กระทรวงอุตฯ อัดงบเพิ่ม 4 พันล้าน หนุนสินเชื่อประชารัฐช่วยเอสเอ็มอี
กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขยายกรอบวงเงินสินเชื่อกองทุนประชารัฐ ปีงบประมาณ 2565 เพิ่ม 4,000 ล้านบาท รวมเป็น 6,000 ล้านบาท ภายหลังจากที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 3,500 กิจการทั่วประเทศมีความต้องการขอสินเชื่อ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กิจการและพัฒนาขีดความสามารถ
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2560 เห็นชอบจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย รวมถึงพัฒนาและเพิ่มผลิตภาพให้ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ตามนโยบายรัฐบาล อาทิ BCG Model ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์และบริการทางการแพทย์ นั้น
นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้อำนวยการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2565 แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น กองทุนฯ จึงออกแบบโครงการสินเชื่อ 3 โครงการ วงเงิน 2,000 ล้านบาท ได้แก่
- โครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอี สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจ BCG วงเงิน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 18 เดือน
- โครงการสินเชื่อสร้างโอกาสและเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจอยากได้เงินทุน วงเงิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ใน 8 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว , กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป, กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น, กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน, กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก, กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง และกลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
- โครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูเอสเอ็มอี สำหรับกลุ่มลูกค้าเดิมที่อยู่ในระหว่างการผ่อนชำระสินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ซึ่งจะช่วยเติมทุนให้กับผู้ประกอบการเพื่อฟื้นฟูธุรกิจได้ วงเงิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
โดยทั้ง 3 โครงการ ได้เปิดรับสมัครคำขอผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.2565 มีผู้ยื่นคำขอสินเชื่อเต็มวงเงิน 2,000 ล้านบาทภายใน 3 สัปดาห์แรก แต่ยังมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ยื่นความจำนงต้องการสินเชื่อเพิ่มเติมอีกกว่า 4,000 ล้านบาท คณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้เห็นชอบขยายกรอบวงเงินสินเชื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ทั้ง 3 โครงการ จากเดิมวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท รวมเป็น 6,000 ล้านบาท ครอบคลุมความต้องการของเอสเอ็มอีที่ประสงค์เข้าถึงแหล่งทุนทั่วประเทศกว่า 3,500 กิจการ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาสและช่วยผลักดันให้เอสเอ็มอีเดินหน้าต่อไปต่อได้
สำหรับทิศทางการทำงานของกองทุนฯ จะมุ่งเน้นการคิดโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เร่งผลักดันให้เกิดและเพิ่มจำนวนธุรกิจในกลุ่ม BCG ภายในประเทศให้มีจำนวนมากขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้ปรับตัวได้ในยุค Next Normal รวมถึงการบูรณาการกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศในการจัดหาช่องทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างมั่นคง นายเดชา กล่าวปิดท้าย