ข่าว

สงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" ผ่านจุดพีค "เฟด" จ่อขึ้นดอกเบี้ยจับตา "ทองคำขาลง"

สงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" ผ่านจุดพีค "เฟด" จ่อขึ้นดอกเบี้ยจับตา "ทองคำขาลง"

16 มี.ค. 2565

มรุต วสุนธรา นักวิเคราะห์ทองคำอินเตอร์โกลด์ เขียนบทความเรื่อง ได้เวลา "ทองคำขาลง" แล้วหรือยัง เมื่อ "เฟด" หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย ครั้งแรกในรอบ 3 ปี ใจความสำคัญดังนี้

ในปีช่วง 2016 - 2019 ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า "เฟด" (Fed) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากใครที่ลงทุนในหุ้นอยู่ตอนนั้นคงจำกัดได้ว่า ตลาดหุ้น Dow jone พุ่งทำ All time high หรือจุดสูงสุดตลอดกาลอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันที่ "ราคาทองคำ" นั้นโดนทุบลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ต่ำสุดที่ประมาณ 1,050 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์เลยทีเดียว

 

แต่เวลาต่อมาได้เกิดสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐขึ้น ทำให้ "เฟด" เริ่มกลับมาทำการลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง และตบท้ายด้วยการเจอวิกฤติโควิด-19จนทำให้เฟดต้องกดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0%ทันที และนั้นก็คือจุดกลับตัวขาขึ้นของทุกตราสารการเงิน

 

จนมาถึงทุกวันนี้ ที่กระแสการขึ้นดอกเบี้ยกลับมาอีกครั้ง คำถามก็คือในปี 2016-2019 "เฟด" ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ทำไมตลาดหุ้นถึงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของ "เฟด" ในครั้งนี้ จะทำให้หุ้นขึ้นแล้วทองลงอีกหรือไม่วันนี้อินเตอร์โกลจะมาเล่าให้ฟังครับ

สงคราม \"รัสเซีย-ยูเครน\" ผ่านจุดพีค \"เฟด\" จ่อขึ้นดอกเบี้ยจับตา \"ทองคำขาลง\"

 

ก่อนอื่นเรามาวิเคราะห์ในภาพกว้าง ๆ กันก่อนนะครับ ว่าสภาวะแบบใดที่จะทำให้หุ้นขึ้น ซึ่งการที่หุ้นจะขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผลกำไรบริษัทนั้นออกมาดีหรือมีแนวโน้มที่จะออกมาดี ( กำไร = รายรับ - รายจ่าย )

โดยรายรับเกิดจากการค้าที่ดี ซึ่งหากภาพใหญ่ ๆ ของโลก นั้นก็คือGDPเติบโตได้ดี แสดงถึงการค้าในภาพรวมที่เติบโต และรายจ่ายที่เกิดจากต้นทุนในด้านต่าง ๆ ลดลง และในวันนี้อินเตอร์โกลด์จะขอพูดถึงต้นทุนทางการเงิน เนื่องจากเป็นต้นทุนที่แต่ละบริษัทต้องเจอเหมือนกันนะครับ

 

ต้นทุนทางการเงินก็คือดอกเบี้ยที่เฟดจะประกาศขึ้นหรือลงนั่นแหละครับ เพราะมันมีผลต่อดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ บริษัทส่วนใหญ่ก็มักจะมีหนี้กันทั้งนั้นเป็นเรื่องปกติ บริษัทที่มีหนี้เยอะเทียบกับกำไร จะมีความเสี่ยงมากเวลาเฟดขึ้นดอกเบี้ย

สงคราม \"รัสเซีย-ยูเครน\" ผ่านจุดพีค \"เฟด\" จ่อขึ้นดอกเบี้ยจับตา \"ทองคำขาลง\"

 

สมมุติว่าบริษัท A มีรายได้ปีละ 100,000,000 บาท มีหนี้อยู่ 500,000,000 บาท กำไรสุทธิปีละ 10,000,000 บาท แล้วถ้าเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย 1 step หรือ 0.25% ต่อปี เท่ากับว่าบริษัท A มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทันที 500,000,000*0.25% = 1,250,000 บาทต่อปี ทำให้กำไรต่อปีหายไปถึง 12.5% เลยทีเดียว แล้วจะไม่ให้หุ้นร่วงได้อย่างไร

 

คำตอบคือได้ ถ้าหากว่าเศรษฐกิจเติบโตดีมากๆ ทำให้รายได้เติบโตขึ้น ชดเชยรายจ่ายที่สูงขึ้นได้ พออ่านมาถึงตรงนี้นักลงทุนคงพอจะเดาได้แล้วใช่ไหมครับว่าทำไมช่วงตอนที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยนั้นตลาดหุ้นถึงพุ่งขึ้นตลอด

 

ต่อไปเรามาวิเคราะห์เศรษฐกิจกัน โดยอินเตอร์โกลด์มองว่าเศรษฐกิจในตอนนี้จะเรียกว่าดีก็ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่นัก มันแค่ดีกว่าเมื่อปี 2021 แต่ไม่ได้หมายความว่าดี ซึ่งยังไม่รวมเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่จะนำมาซึ่งการคว่ำบาตรต่าง ๆ รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับยูเครนซึ่งต่อให้สงครามสงบลง ยูเครนก็ไม่เหมือนเดิม รวมถึง supple chain ในยูเครนที่ถูกทำลายไป ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม จุดนี้เป็นความจริงที่จะกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้น ทำให้มองว่าเศรษฐกิจโลกจะต้องถดถอยอย่างแน่นอน

 

ตอนนี้นักลงทุนคงทราบกันแล้วว่า "เฟด" กำลังพยายามจะขึ้นดอกเบี้ยตลอดทั้งปี 2022 และอย่างที่เราได้วิเคราะห์กันไปแล้วว่า เศรษฐกิจโลกจะถดถอย ดังนั้นตลาดหุ้นหรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ จะโดนเทขาย รวมไปถึงตราสารหนี้ก็จะโดนเทขายด้วยเช่นกัน เพราะตราสารหนี้ไม่ชอบช่วงเวลาที่เงินเฟ้อเติบโต แต่คำถามที่จะตามมาคือ เมื่อขายออกมาแล้วแล้ว เงินจะไปอยู่ที่ไหน?

 

ในช่วงเวลาแบบนี้เงินมักจะไหลไปในที่ที่มีสภาพคล่องสูงและมีความเสี่ยงที่ต่ำ เพื่อรอโอกาสการลงทุนดี ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ช่วงเวลาที่หุ้นร่วง 50% หรือการลงทุนในรัสเซียก็อาจเป็นที่น่าจับตามองเพราะเมื่อรัสเซียเกิดวิกฤติก็จะเหมือนของลดราคากระหน่ำซัมเมอร์เซล

 

ดังนั้นสินทรัพย์ที่ตอนนี้นักลงทุนเอาเงินเข้าไปหลบภัย หลัก ๆ เลยคือ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯส่วนทองคำความจริงไม่ชอบการขึ้นดอกเบี้ย แต่ชอบเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อมาก ๆ ดังนั้นจึงทำให้ทองคำมีความน่าสนใจในระยะยาวด้วยเช่นกัน

 

ถึงแม้ว่าเราจะรู้แล้วว่าหาก "เฟด" ขึ้นดอกเบี้ยและเศรษฐกิจโลกจะถดถอยใน 1-2 ปี ข้างหน้า แต่ในระยะสั้น ความไม่แน่นอนของรัสเซีย-ยูเครนยังสามารถออกหัวหรือก้อยได้เสมอ ทำให้อินเตอร์โกลด์มองว่าอาจผ่านจุดสูงสุดของความขัดแย้งไปแล้วและเมื่อใดที่ความขัดแย้งคลี่คลายลงทองคำจะถูกเทขายทำกำไรออกมาซึ่งจะกดดันราคาทองคำระยะสั้น ประกอบกับเรื่องที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

จากทั้ง 2 องค์ประกอบนี้จะกดดันทองคำอย่างมาก โดยคาดว่าเราอาจได้เห็นราคาทองคำต่ำสุดที่1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ภายใน1-2 เดือนข้างหน้าและนั้นจะเป็นโอกาสเริ่มเก็บทอง ของนักลงทุนทองคำระยะยาว เพราะความจริงที่ว่าโลกจะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมในช่วง 1-2 ปีแน่ ๆ

 

ดั้งนันสภาวะเงินเฟ้อสูงบวกกับสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอทั่วโลกคือช่วงเวลาที่ทองคำให้ผลตอบแทนดีที่สุด โดยอินเตอร์โกลด์ยังมองว่าเฟดจะไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อเนื่องทั้งปีอย่างที่เฟดกล่าวไว้อีกด้วย หากเป็นแบบนี้ทองคำจะขึ้นได้รุนแรงกว่าที่หลายคนคิด
 

แต่วันนี้เอาไว้เท่านี้ก่อนแล้วกัน คิดว่ายาวมากแล้ว ใครอยากรู้ว่าทำไมอินเอตร์โกลด์ถึงคิดว่าเฟดมีโอกาสจะคืนคำพูดตัวเองสูงติดตามต่อได้ในตอนต่อไปนะครับ