คัดค้านโครงการหมื่นล้านตัดสะพานข้าม "แม่น้ำเจ้าพระยา"
กลุ่มรักษ์บ้านกำเเพงเพชร 5 ขึ้นป้ายคัทเอาท์คัดค้านโครงการหมื่นล้านตัดสะพานข้าม "เเม่น้ำเจ้าพระยา" แยกเกียกกายอ้างเเก้ปัญหาจราจร ใช้ข้อมูลเก่า10ปีมาใช้ก่อสร้าง ห่างสภา 100 เมตรบดบังทัศนียภาพ ระบุเคยส่งหนังสือถึง กทม.เเต่กลับไม่ได้รับการชี้เเจงเหตุผล
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 65 นาง พรรณี ศรีบรรเทา ข้าราชการบำนาญกรมพัฒนาสังคมฯ
เลขานุการณ์กลุ่มรักษ์บ้านกำเเพงเพชร 5 ซึ่งตั้งขึ้นมาโดยเป็นประชาชนเเละผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับผลกระทบจากการเวณคืนที่ดินเเละคัดค้านโครงการสะพานข้าม "แม่น้ำเจ้าพระยา" บริเวณแยกเกียกกาย เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลมีโครงการสร้างสะพานข้าม"แม่น้ำเจ้าพระยา" บริเวณแยก เกียกกาย พร้อมสร้างและขยายถนนเพื่อเชื่อมต่อ สะพาน ทั้งฝั่งธน และ ฝั่งกรุงเทพ ฯ โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อแก้วิกฤตการจราจร นั้น
ตนอยากเรียนว่าข้ออ้างของรัฐบาล มีเหตุผลและฟังขึ้นหรือไม่ เนื่องจากเดิมโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแยกเกียกกายดังกล่าวนี้มีมาก่อนที่จะมีการสร้างรัฐสภาที่แยกเกียกกาย ต่อมาเมื่อรัฐบาลตกลงสร้างรัฐสภา โครงการที่จะสร้างสะพานดังกล่าวจึงถูกประชาชนและสมาคมวิชาชีพด้านต่าง ๆ คัดค้าน ทั้งเรื่องที่จะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความไม่เหมาะสมต่าง ๆ โครงการนี้จึงถูกรัฐบาลชุดก่อนสั่งชะลอโครงการไว้ จนมาถึงปัจจุบันในปี พ.ศ. 2564 เป็นช่วงใกล้จะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 1-2ปี รัฐบาลชุดนี้ได้มีมติอย่างเร่งด่วนและรีบเร่งเมื่อวันที่ 28 ก.ย.64 เห็นชอบตามที่ กทม. โดยกระทรวงมหาดไทย เสนอ ให้มีการออก พ.ร.ฎกำหนดเขตพื้นที่เพื่อเวนคืนที่ดินของประชาชนในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงพญาไท แขวงสามเสนใน เขตพญาไทและแขวงจอมพล แขวงจตุจักร เขตจตุจักร ซึ่งการมีมติ เป็นไปอย่างเร่งรีบและเร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีข้อพิรุธน่าสงสัยอย่างยิ่ง
รัฐบาลโดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นประธานผู้พิจารณาโครงการนี้กลับมิได้ฟังเสียงคัดค้านของสมาคมวิชาชีพ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ของประเทศ รวมถึงประชาชนที่คัดค้านไม่เห็นชอบเป็นอย่างยิ่งกับโครงการนี้ โดยรัฐบาลได้มีมติรับโครงการนี้ให้ดำเนินการ โดยเร่งด่วนมุ่งประสงค์ จะให้โครงการนี้ สำเร็จโดยเร็ว แม้จะต้องใช้งบประมาณ มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทก็ตาม
จึงให้เกิดคำถามว่า การใช้เงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โครงการนี้ คุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เพื่อแก้ปัญหาจราจรจริงตามที่อ้าง หรือ ไม่
เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว แยกเกียกกายยังไม่มีโครงการก่อสร้างรัฐสภา กรุงเทพยังไม่มีรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันนี้กรุงเทพมีรถไฟฟ้าสีต่าง ๆ สามารถขนถ่ายผู้คนทั่วถึง เพื่อลดการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะแยกเกียกกายมีตึกรัฐสภาของชาติซึ่งสร้างเสร็จ อย่างสง่างามเป็นสมบัติของชาติ การจราจรบริเวณดังกล่าวก็ลื่นไหลไม่ติดขัด ดังนั้นโครงการที่ว่านี้จึงเป็นการถ่ายเทยานพาหนะจำนวนมากมาแออัดที่บริเวณดังกล่าว และถนนที่ต่อเนื่องอีกหลายสายอันเป็นการเพิ่มปัญหาการจราจรมากขึ้น ทั้งยังให้เกิดความไม่ปลอดภัยเป็นการทำลายคุณค่าความสง่างามของรัฐสภาที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ และที่สำคัญสร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นจำนวนมากที่จะต้องถูกเวนคืนที่ดิน
การคัดค้านของสมาคมวิชาชีพ บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิของชาติ และประชาชน มีเหตุผลที่ชัดเจนตรงไปตรงมา
ข้อ 1 ตัวสะพานที่จะสร้างขึ้นที่แยกเกียกกายนี้เป็นสะพานขนาดใหญ่มาก โดยตัวสะพานห่างจากรัฐสภา ระยะเพียง 100 เมตร ซึ่งคงไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่จะกระทำกัน เป็นการทำลายความสง่างามรัฐสภาแน่นอน แต่ กทม. คงอ้างเพียงว่า สร้างสะพานเพื่อแก้ปัญหาจราจร
จึงน่าสงสัยว่าเป็นการแก้ปัญหาจราจรหรือมีวาระอื่นซ้อนเร้นโครงการนี้ของรัฐบาลจึงเป็นที่สงสัยในเป้าประสงค์ที่แท้จริงว่าต้องการสร้างเพื่อสิ่งใดกันแน่
ข้อ 2 ตัวสะพานก็จะห่างจากรัฐสภาเพียง 100 เมตร หากในอนาคตมีการก่อวินาศกรรม เช่น มีการยิงวัตถุระเบิดจากตัวสะพาน ที่มีความสูง ไปยังอาคารรัฐสภาก็จะเกิดโศกนาฏกรรมแก่ประชาชนและรัฐสภา อย่างแน่นอน
ที่สำคัญคือ 3 การสร้างสะพานแยกเกียกกายนี้ จะต้องสร้างคร่อมเส้นทางด้านหน้ารัฐสภา ซึ่งเส้นทางด้านหน้ารัฐสภานี้เป็นเส้นทางหลักในการเข้าไปในอาคารรัฐสภา ดังนั้น ในโอกาสที่สำคัญ ๆ ของชาติ เช่น พิธีเปิดรัฐสภา จะต้องมีการเสด็จพระราชดำเนินในเส้นทางด้านหน้ารัฐสภาเส้นทางนี้ ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐบาลและ กทม. ควรสำนึกและตระหนักถึง เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในข้อ 3 นี้ ให้จงหนักอย่างยิ่ง หากยังดึงดันที่จะยังเดินหน้าโครงการต่อไป
ทั้ง ๆ ที่โครงการนี้มีข้อเสียและจุดอ่อนต่าง ๆ หลายประการ จึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา ทูลเกล้าฯถวายฎีกาด้วยแล้ว
4.การจัดทำโครงการนี้ได้กระทำโดย ไม่โปร่งใส การใช้งบประมาณของแผ่นดินมากกว่า1หมื่นล้านบาท โดยอ้างเหตุผลเรื่องการจราจรเพียงประการเดียว ชอบหรือไม่ กทม. ซึ่งเป็นต้นเรื่องได้มีการทำประชาพิจารณ์ สอบถามประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือไม่ และโครงการขนาดใหญ่ นี้ไม่ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อสงสัยต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีประชาชนสอบถามไปถึง กทม.เเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับได้รับคำตอบว่าข้อมูลทั้งหมดเป็นความลับ ไม่อาจเปิดเผยรายละเอียดได้ ทั้งยังอ้างกฎหมายต่อไปว่าโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดให้นำมาพิจารณาก่อนก็ไม่ต้องนำมาพิจารณา การทำโครงการขนาดใหญ่ ขนาดนี้ กทม. ทำโดยอ้างเหตุ เพียงว่าโครงการนี้ได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวง ซึ่งเป็นเพียงอนุบัญญัติหรือกฎหมายรองที่มีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ และรัฐธรรมนูญ
“คำตอบของ กทม. เหล่านี้จะต้องมีการพิสูจน์ในชั้นศาลต่อไปว่าเป็น คำตอบ และเป็นโครงการที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติต่าง ๆ และรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ต่อไปอย่างแน่นอน”
ข้อ 5 ในยุคปัจจุบันเมื่อประชาชนสงสัยและสอบถาม กทม. กลับไม่มีคำตอบให้แก่ประชาชน คงมีเพียงเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการกองของ กทม. ออกมาแถลงตอบโต้ประชาชนผู้เดือดร้อน ว่าเส้นทางตามโครงการนี้เหมาะสมที่สุดแล้ว โดยมิได้ให้เหตุผลที่พอฟังขึ้นว่าเหมาะสมที่สุดอย่างไร ทั้งที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏนั้นขัดต่อความรู้สึกและสายตาของประชาชนทั่ว ๆ ไป
ที่ผ่านไปผ่านมาในที่ดินบริเวณที่จะมีการก่อสร้างถนน เช่นที่ดินบริเวณถนนกำแพงเพชร 5 ซึ่งรัฐบาลประสงค์จะเวนคืนที่ดินริมถนนสายนี้ตลอดสาย เพื่อสร้างถนนรองรับรถจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแยกเกียกกาย
โดยประชาชนที่อาศัยอยู่บนถนนกำแพงเพชร 5 ต่างไม่ทราบว่า รัฐบาลได้ทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นประชาชนแถบนี้หรือไม่
เมื่อประชาชนทราบแน่ชัดว่ารัฐบาลจะเวนคืนที่ดินบริเวณนี้อย่างแน่นอนไม่ว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือชอบธรรมหรือไม่ ประชาชนเหล่านี้จึงได้รวมตัวกันแสดงเจตนาคัดค้านการเวนคืนที่ดินถนนกำแพงเพชร 5 ดังกล่าวโดยขอให้รัฐบาล เลี่ยงหรือเบี่ยงไปใช้เส้นทางบนถนนเทอดดำริ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับถนนกำแพงเพชร 5 แทน ซึ่งถนนเทอดดำริและถนนกำแพงเพชร 5 มีเพียงทางรถไฟคั่นกลางเท่านั้น ที่สำคัญถนนเทอดดำริไม่มีบ้านเรือนประชาชนอยู่อาศัยแม้แต่หลังคาเดียว ไม่มีผู้ใดเดือดร้อนไม่ต้องเวนคืนที่ดิน รัฐบาลชุดนี้กลับเพิกเฉยไม่ฟังเสียงผู้เดือดร้อนที่จะต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่อยู่มาแต่ดั้งเดิมรุ่นพ่อรุ่นแม่ปู่ย่าตายายไป
ชุมชนชาวกำแพงเพชร 5 จึงติดป้ายแสดงเจตนาขอให้รัฐบาลเลี่ยงหรือเบี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น ซึ่งสามารถทำได้โดยอาศัยสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ
กลับได้รับการตอบโต้จาก กทม. ว่า เส้นทางตามโครงการที่จะเวนคืนริมถนนกำแพงเพชร 5นี้ เหมาะสมที่สุดแล้ว และ กทม. ยังตอบโต้อีกว่าได้มีการสอบถามทำความเข้าใจกับประชาชนชาวถนนกำแพงเพชร 5 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประชาชนชาวกำแพงเพชร 5 ที่ได้รับความเดือดร้อนไม่อาจยอมรับการแถลงของ กทม. ครั้งนี้ได้
นอกจาก กทม.จะเดินหน้าแถลงตอบโต้ประชาชนแล้ว ยังมี คณะบุคคลที่อ้างว่ามาจาก กอ .รมน กทม. มาสอบถามประชาชนผู้คัดค้านว่า การคัดค้านมีใครอยู่เบื้องหลังบ้าง
ตรงนี้ตนขอแจ้งให้ทราบว่าไม่มีบุคคลใดหรือใครอยู่เบื้องหลัง มีก็แต่ประชาชนยืนอยู่เบื้องหน้า ในฐานะประชานผู้เสียภาษีเเละเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการขอเสนอต่อรัฐบาลในฐานะเจ้าของโครงการและรัฐสภาในฐานะผู้ควบคุมและตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศโปรดพิจารณาทบทวนยุติโครงการนี้อย่างเร่งด่วนและหากองค์กรทั้งสองดังกล่าวไม่สนใจหรือนำพาต่อความเหมาะสมของโครงการและความเดือนร้อนของประชาชน
ตนเเละชาวบ้านจะต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรมทั้งศาลปกครองและศาลยุติธรรม จะเป็นที่สุดท้ายของประชาชน และสังคมที่จะให้คำตอบต่อโครงการนี้ว่าเหมาะสมถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายหรือไม่เพียงใดต่อไป
อยากจะฝากถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องว่า การใช้ เงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท สำหรับ โครงการดังกล่าว โดยอาศัยข้อมูลเก่าเกินกว่่ 10 ปี มาเป็นฐานความคิด เพื่อแก้ปัญหาการจราจร น่าเชื่อ หรือ ไม่ ว่าเพื่อแก้ปัญหาการจราจรจริง หรือ ซ่อนเร้นอื่นเบื้องหลัง
ฝ่ายค้านช่วยตรวจสอบโครงการนี้ของรัฐบาลชุดนี้ด้วย