นายกฯ เผย ยังไม่มีประกาศ เลิกสวม "หน้ากากอนามัย"
นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกยังไม่มีประกาศยกเลิกการสวม "หน้ากากอนามัย" ยังต้องใส่ ส่วนการจัดคอนเสิร์ตต้องปฏิบัติตามมาตรการ ฝ่าฝืนสั่งปิดทันที
18 มี.ค. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ถึงข้อเสนอการจัดคอนเสิร์ตสามารถผ่อนคลายได้หรือไม่ รวมทั้งข้อเสนอให้ยกเลิกการสวม "หน้ากากอนามัย"ว่า ก็ให้ไปขออนุญาตให้จัดในที่แจ้ง จำนวนคนเท่าไรก็มีกำหนดไว้อยู่แล้ว แต่การที่จะไปจัดในสถานที่ปิดมิดชิดที่ยังไม่ให้เปิดก็จัดได้แค่ในลักษณะที่เป็นเหมือนร้านอาหาร
นายกฯ กล่าวอีกว่า สถานที่แบบนี้เมื่อเข้าไปเราไม่ได้ไปห้ามการแสดงดนตรี ก็ขอแสดงกันในที่ไม่ใช่พื้นที่ปิด ในส่วนพื้นที่เสี่ยงวันนี้ก็ตรวจเจอกันหลายพื้นที่ ได้สั่งการกำชับไปแล้วถ้าไม่ปฏิบัติตามมาตรการสั่งปิดทันที ต้องมีความผิดและรับผิดชอบตามกฎหมายเพราะทำให้คนเดือดร้อน ขอเตือนถ้าไม่อยากติดเชื้อ ไม่อยากให้คนในครอบครัวติดเชื้อก็ต้องระมัดระวังตัวเองในการใช้ชีวิต ยังคงต้องระวังอยู่
“หน้ากาก"ยังคงต้องใส่อยู่ อย่าเพิ่งไปพาดหัวข่าวว่าจะเลิก ถอดหน้ากาก ยังไม่เลิก เพราะมติ ศบค.ยังไม่ออกตรงนี้ ก็พูดกันไปล่วงหน้ากันเอง นายกฯ กล่าว
ส่วนมติที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันนี้ นายกฯ กล่าวว่า การประชุม ศบค.วันนี้เป็นเรื่องของการปรับมาตรการปรับโซนสีโควิด รวมถึงมาตรการทำอย่างไรให้เกิดการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ซึ่งตอนนี้เราเปิดประเทศแล้ว ก็มีการปรับปรุงมาตรการอยู่หลายอันที่มีรายละเอียดปลีกย่อย
สิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นห่วงช่วงนี้ คือ สถานการณ์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทุกพื้นที่ที่มีการจัดงานต้องระมัดระวังตัวเอง ต้องรับผิดชอบปฏิบัติตามมาตรการในการจัดงานสงกรานต์ ถ้าตรงไหนไม่ปฏิบัติตามต้องถูกปิด ต้องระมัดระวังกัน เพราะเทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีไทยแต่โบราณ
นายกฯ กล่าวด้วยว่า ขอให้ฟังมาตรการของ ศบค.ด้วย และปฏิบัติให้ได้ตามนั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่มากขึ้น ซึ่งวันนี้สถานการณ์ในต่างประเทศก็มีมากกว่าเราเยอะ แต่มาตรการในการดูแลรักษาเราทำได้ดีกว่าเขา ทั้งเตียง ยารักษา ขณะนี้เราเพียงพอ เรื่องสำคัญอีกประการคือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 วันนี้มีวัคซีนเพียงพอเตรียมไว้ถึง 3 ล้านกว่าโดส แต่คนก็ยังไม่ค่อยอยากมาฉีดกัน จึงต้องรณรงค์ให้มาฉีดกันมากขึ้น สั่งการให้มีการลงไปฉีดในพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่จะมีการจัดงานต้องฉีดให้ได้มากที่สุด
และให้ระมัดระวังกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว วันนี้มีปัญหาอีกอันคือกลุ่มผู้ที่มีโรคไต ที่จะต้องฟอกไตเมื่อมีโควิด-19 ก็ไปฟอกไม่ได้ตามเวลาที่กำหนดจึงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไขในทุกมิติ
นายกฯ กล่าวอีกว่า ในเรื่องการจะปรับให้เป็นโรคประจำถิ่นนั้นเป็นเพียงแผนงาน ถ้าเป็นไปได้สถานการณ์ดีขึ้นก็จะสามารถเดินไปสู่จุดนั้นได้ ยังไม่ได้หมายความว่าจะทำเลย เขามีขั้นตอนของเขา ถ้าไม่ผ่านตรงนี้ก็เป็นไปไม่ได้เท่านั้นเอง ก็ต้องใช้วิธีการมาตรการเดิม ๆ ที่เราทำอยู่แล้วให้เข้มงวด