ฝูง "พะยูน" กว่าร้อย โลมาหัวโหนก 27 ตัว ทะเลตรัง พฤติกรรมไม่ผิดปกติ ยังสมบูรณ์
ทช. สำรวจการแพร่กระจายของสัตว์ทะเลหายากในทะเลตรัง พบ "พะยูน" 140-170 ตัว โลมาหัวโหนก 27 ตัว เต่าทะเล141 ตัว ใกล้เกาะลิบง เกาะมุกด์ และหมู่เกาะใกล้เคียง ไม่พบพฤติกรรมผอดปกติ มีความสมบูรณ์เพศ พร้อมนำข้อมูลคำนวณหาประชากรสัตว์หายากที่แท้จริง
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ออกสำรวจการแพร่กระจายของสัตว์ทะเลหายากในทะเลตรัง โดยวิธีการบินสำรวจ (Aerial Survey) ด้วยเครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect และวิธีการสำรวจทางเรือโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV-drone) ร่วมกับนักบินอาสาสมัคร นาย Eduado Angelo Loigorri และคุณภิญญดา ภิธัญสิริ บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์ และหมู่เกาะใกล้เคียง
ผลจากการสำรวจโดยประมาณในเบื้องต้นพบ "พะยูน" 140-170 ตัว (พะยูนคู่แม่-ลูก 15-20 คู่) โลมาหลังโหนก 27 ตัว และเต่าทะเล 141 ตัว โดยผลจากการตรวจสุขภาพและประเมินสุขภาพจากการสังเกตด้วยสายตา พบว่า "พะยูน" แสดงพฤติกรรมว่ายน้ำหาอาหารบนแนวหญ้าทะเล และพฤติกรรมการผสมพันธุ์
นอกจากนี้ยังพบ "พะยูน" คู่แม่-ลูก ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์เพศของตัวสัตว์ รวมถึงโลมาหลังโหนกและเต่าทะเล ทั้งนี้ สุขภาพโดยรวมไม่พบพฤติกรรมที่แสดงความผิดปกติ ส่วนข้อมูลจากการสำรวจจะใช้คำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของสัตว์ทะเลหายากในบริเวณทะเลตรัง ต่อไป