ข่าว

"วิโรจน์" เสนอ 3 สิ่งนี้ แก้ปัญหา "การศึกษา" กรุงเทพมหานคร

"วิโรจน์" เสนอ 3 สิ่งนี้ แก้ปัญหา "การศึกษา" กรุงเทพมหานคร

20 มี.ค. 2565

ล้อมวงคุย ลุยแก้ปัญหา การศึกษาเด็กกรุงเทพฯ "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" เสนอ 3 สิ่งนี้แก้ปัญหา "การศึกษา" ครอบคลุมทั้ง นักเรียน-ครู-ผู้ปกครอง ย้ำเด็กต้องได้เรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็นกับการใช้ชีวิต

วันที่ 20 มีนาคม 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ล้อมวงพูดคุยร่วมกับ ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ในหัวข้อ “ล้อมวงคุย ลุยแก้ปัญหา การศึกษาเด็กกรุงเทพ กับวิโรจน์” ณ Connect Space ชั้น 3 The Season Mall BTS สนามเป้า ภายในงานมีครู นักเรียน-นักศึกษา บุคลากรด้านการศึกษา บุคคลทั่วไป เข้าร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงมุมมองด้านการศึกษาตลอดทั้งงาน

 

วงสนทนาเริ่มต้นขึ้นที่ “ครูจุ๊ย” กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการการศึกษาและผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ได้เริ่มต้นแสดงความเห็นต่อสถานการณ์ปัญหาการศึกษาของนักเรียนในกรุงเทพมหานคร ว่า อยู่ในภาวะวิกฤต ยกปัญหา 3 ข้อ ได้แก่

1.ปัญหาสวัสดิการของนักเรียน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีหลายครอบครัวต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในยุคโควิดที่ผ่านมา ทำให้นักเรียนในกรุงเทพที่มาจากครอบครัวรายได้น้อยต้องประสบปัญหาระหว่างการเรียนการสอน ขาดอุปกรณ์การเรียน ต้องหลุดจากการศึกษา ซึ่งกุลธิดาได้แนะว่า กทม. ควรสนับสนุนงบประมาณสวัสดิการในเด็ก อัดฉีดสวัสดิการที่เพิ่มมากขึ้น

2.นักเรียนในพื้นที่กรุงเทพขาดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาพื้นที่กรุงเทพฯ มีราคาต้องจ่าย เพราะแหล่งการเรียนรู้ที่เป็นสาธารณะเข้าถึงง่ายมีน้อยเกินไป

3.นโยบายในประเทศจำกัดการเรียนรู้ ทำให้แนวทางการจัดการในโรงเรียนมีข้อจำกัด ปัจจุบันรัฐเน้นแก้ปัญหา หาออกนโยบายอุดช่องโหว่ด้วยหน่วยงาน SE (social enterprise) มากกว่าการทบทวนนโยบายระดับชาติ

\"วิโรจน์\" เสนอ 3 สิ่งนี้ แก้ปัญหา \"การศึกษา\" กรุงเทพมหานคร

ด้านครูทิว- ธนวรรธ์ ในฐานะครูที่อยู่ในระบบการศึกษา ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ของครู และการเรียนการสอนให้เห็นภาพใหญ่ของปัญหา คือ

\"วิโรจน์\" เสนอ 3 สิ่งนี้ แก้ปัญหา \"การศึกษา\" กรุงเทพมหานคร

1. โรงเรียนในสังกัดกทม. 400 กว่าโรงเรียน มีการดูแลผ่านสำนักงานเขต ครูทิวตั้งคำถามว่ามีเจ้าหน้าที่ดูแลพอหรือไม่

2. สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และความโยงใยระหว่างครู เด็ก และ ครอบครัว ซึ่งครูทิวชี้ให้เห็นว่า คนกทม. มีทางเลือกมากมายในการส่งบุตรหลานเข้าเรียน ร.ร. กทม., ร.ร. สพฐ., ร.ร. เอกชน, ร.ร. นานาชาติ แต่ถ้าเด็กไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งในครอบครัว และโรงเรียนในระบบ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ โจทย์ใหญ่คือจะทำอย่างไรให้โรงเรียนมีการทำงานร่วมกับผู้ปกครอง ให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดเวลา

\"วิโรจน์\" เสนอ 3 สิ่งนี้ แก้ปัญหา \"การศึกษา\" กรุงเทพมหานคร

 

ด้านวิโรจน์ ในฐานะผู้ติดตามประเด็นการศึกษามาอย่างยาวนาน และว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่จะต้องแก้ไขปัญหาการศึกษาของกทม.ได้ชูประเด็นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มหลักต่อไปนี้

 

1.ตอบโจทย์พ่อแม่ นายวิโรจน์เสนอว่า พ่อแม่คนกทม. ต้องไปทำงานได้อย่างสบายใจ โดยกทม. ต้องสนับสนุน โรงเรียน ห้องสมุดชุมชน ต้องพร้อมให้บริการ child care หลังเลิกเรียน ตอบโจทย์พ่อแม่ที่ต้องทำงาน เพิ่มงบอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะมีโภชนาการที่ดี และสำคัญที่สุด โรงเรียนในสังกัด กทม. ต้องเป็น bullying-free school "โรงเรียนปลอดบูลลี่" ที่ปราศจากการกลั่นแกล้งรังแกให้ได้ มีการจัดจ้างครูการศึกษาพิเศษ และนักจิตวิทยาเด็กเพิ่มเติม ถ้าสิทธิเด็กได้รับการคุ้มครอง ครูและเด็กเข้าอกเข้าใจกัน หน้าต่างของการเรียนรู้ก็จะเปิดกว้างขึ้น คุณภาพการเรียนการสอนก็จะดีขึ้น 

2.ตอบโจทย์เด็ก นายวิโรจน์ระบุว่า คนกทม.ต้องการการศึกษา ที่เด็กสามารถคิดสร้างสรรค์ สามารถค้นหาตัวเอง มีโอกาสพัฒนาทักษะที่สำคัญ มีมนุษยสัมพันธ์ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น สิ่งต่างๆเหล่านี้ ถ้าเด็กไม่มี “เวลา” ก็จะทำไม่ได้

  • ถึงเวลาแล้วที่โรงเรียน กทม. จะเรียนให้น้อยลง ลดการสอบลง แล้วเปิดพื้นที่ในการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. ในการพัฒนาทักษะอาชีพ และหน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนาทักษะการเงินส่วนบุคคล ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการช่วยชีวิต ฯลฯ ให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็นกับการใช้ชีวิต

3.ตอบโจทย์ครู นายวิโรจน์ ระบุว่าระบบการศึกษาของ กทม. ต้องให้โรงเรียนมีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน เช่น การสั่งซื้อหนังสือเรียน และสื่อการเรียนรู้ต่างๆ โดยตัดขั้นตอนเยิ่นเย้อ ที่ต้องผ่านเขตออก ให้มาที่สำนักการศึกษาได้โดยตรง และที่สำคัญครูจะต้องมี อำนาจในการจัดการเรียนการสอน

นายวิโรจน์ ยืนยันว่านโยบายการศึกษาเป็นนโยบายที่ตนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น เพราะการลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ คือการลงทุนเพื่ออนาคตของชาติ และยังเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเมืองที่คนเท่ากันในระยะยาว โดยนโยบายการศึกษาจะเป็นหนึ่งใน 12 นโยบายหลักของทีมวิโรจน์ ที่จะเปิดตัววันที่ 27 มีนาคม 2565 นี้ด้วย