นักธรณีวิทยายัน "ฟอสซิลสัตว์" กลางไร่มัน อายุ 100 ล้านปี ร่วมสมัยไดโนเสาร์
นักธรณีวิทยา สำรวจซากคล้ายกระดูกสัตว์ บ้านวังกูบ ยืนยันไม่ใช่ไดโนเสาร์ แต่เป็น "ฟอสซิลสัตว์" ร่วมสมัยอายุกว่า 100 ล้านปี น่าเสียดายชิ้นส่วนสำคัญ ที่จะยืนยันว่าเป็นชนิดใดกลับถูกขโมยไปจึงวอนขอคืนเพื่อเป็นมรดกศึกษาของชาติ
จากกรณีที่มีชาวบ้าน บ้านวังกุง ต.ท่ากูบ อ.ซับใหญ่ จ.ชัยภูมิ พบซากคล้ายฟอสซิลไดโนเสาร์ และมีการนำมาแชร์ทางโซเชียลจนเป็นที่ฮือฮา ได้รับความสนใจจากคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก และมีผู้ที่เข้ามาขุดซากดังกล่าว คาดว่าจะมีการนำไปทำเป็นเครื่องรางของขลัง ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ธรณีวิทยา สังกัดกรมทรัพยากรฯ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดบพื้นที่บริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้เคียงสำนักสงฆ์ถ้ำดงเข บ้านวังกุง ต.ท่ากูบ อ.ซับใหญ่ จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 จังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจสอบตามกรณีที่มีผู้ พบเห็น สิ่งที่ดูคล้ายว่าจะเป็นฟอสซิลไดโนเสาร์ โดยการเข้าตรวจสอบในครั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรณี ได้ประสานไปยัง เจ้าของพื้นที่คือ ที่ว่าการอำเภอซับใหญ่และองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากูบ เพื่อทำเอกสาร ในการตรวจสอบ
จากการเข้าพื้นที่พบว่าเป็นพื้นที่ สปก. ซึ่งมี นายเทิดเกียรติ ชำนาญศรี ชาวบ้าน บ้านวังกุง เป็นผู้ครอบครอง ใช้พื้นที่บริเวณนี้ ทำไร่ปลูกมัน จากการสอบถามย้อนไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน พบว่ามีการขุดหรือกระเทาะชั้นหินออก จนกระทั่งมีเห็น เป็นวัตถุคล้ายฟอสซิลหรือโครงกระดูก ถึงได้มีการถ่ายรูปและโพสต์ลงไปในโซเชียล โดยคาดการณ์กันว่ามีลักษณะคล้ายกับฟอสซิลไดโนเสาร์ หรืออาจจะเป็นไดโนเสาร์ประเภทเดียวกับที่พบเจอในพื้นที่รอยต่อใกล้เคียงกันในพื้นที่อำเภอหนองบัวระเหว
ซึ่งจากการตรวจสอบของทางเจ้าหน้าที่สำนักงาน ทรัพยากรธรณีเขต 2 จังหวัดขอนแก่น ตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่าชิ้นส่วนดังกล่าวไม่ใช่ไดโนเสาร์ แต่ยืนยันได้ว่าเป็นสัตว์ร่วมสมัยและมีอายุมากกว่า 100 ล้านปี
นางศศอร ขันสุภา เจ้าหน้าที่สำนักธรณีวิทยาชำณาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรธรณีวิทยา เขต 2 จ.ขอนแก่น สังกัดกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่าจากการลงพื้นหลังได้รับทราบว่ามีผู้พบเห็นวัตถุคล้ายกระดูกสัตว์โบราณ หรือ ฟอสซิล เพิ่มเติมในวันนี้จากการสำรวจพบว่ามีชิ้นส่วนสำคัญ ที่อาจจะถูกคนเข้ามาขุดนำออกไป จากจุดดังกล่าวก่อนหน้านี้ ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจากเจ้าของพื้นที่ว่าก่อนหน้านี้มีชิ้นส่วนหนึ่งที่นูนออกมา และมีการกะเทาะหินและได้หายไปจากจุดที่พบ ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำออกไป และนำไปทำอะไร ซึ่งจากการสันนิษฐานว่าผู้ที่เอาไปน่าจะเอาไปทำเป็นเครื่องรางของขลัง ซึ่งทางด้านเจ้าหน้าที่เองก็อยากที่จะประชาสัมพันธ์ว่า ชิ้นส่วนที่พบไม่ใช่เครื่องรางของขลังแต่อย่างใด และไม่ใช่วัตถุมงคล ซึ่งถ้าหากนำกลับมาเพื่อให้เข้ากระบวนการพิสูจน์ ก็จะยิ่งมีประโยชน์ต่อการสำรวจทางด้านธรณีวิทยาบ่งบอกถึง ความอุดมสมบูรณ์ความเป็นมาของพื้นที่ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติและ พื้นที่ในหลายๆด้าน
โดยหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรณีวิทยาเขต 2 จังหวัดขอนแก่น สังกัดกรมทรัพยากร จะต้องมอบให้พื้นที่ หรือ อบต.ท่ากูบ ได้เป็นผู้ดูแลและดำเนินการขออนุญาตปิดพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และจะได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ลงมาทำการสำรวจในพื้นที่บริเวณนี้ ส่วนวัตถุที่พบในวันนี้จะมีการเก็บตัวอย่างกลับไปที่สำนักงาน เพื่อส่งต่อให้ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมจึงจะสามารถยืนยันได้ว่า วัตถุที่พบในครั้งนี้เป็นสัตว์ประเภทใด อยู่ในยุคไหนและมีอายุในช่วงใดต่อไป
มัฆวาน วรรณกุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ชัยภูมิ