ทลายแหล่งผลิต"ยาน้ำสมุนไพรเถื่อน" ผสมสาร"สเตียรอยด์"
ตำรวจสอบสวนกลาง จับมือ อย.ทลายแหล่งผลิต"ยาน้ำสมุนไพรเถื่อน" ผสมสาร"สเตียรอยด์"สุดอันตราย มูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ.พร้อมด้วย พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., พ.ต.อ.ณัฏฐ์ โหม่งพุฒ ผกก.สส.ภจว.ขอนแก่น ร่วมกับ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ "อย." แถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีทลายแหล่งผลิตน้ำสมุนไพร ผสมสาร"สเตียรอยด์" โดยตรวจยึดของกลาง 61 รายการ มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
สืบเนื่องจาก กก.4 บก.ปคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบผู้บริโภคจำนวนมากได้ซื้อผลิตภัณฑ์"น้ำสมุนไพร" และผลิตภัณฑ์"เครื่องดื่มสมุนไพร"ที่โฆษณากล่าวอ้างบำรุงร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร ต้านการอักเสบของ ข้อ หลังและเอว ลดอาการปวดทุกชนิด มาดื่มกินและเกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย อีกทั้งได้รับแจ้งว่ามีการแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ตรวจสอบพบสาร"สเตียรอยด์"ในหลายพื้นที่ โดย สสจ.เชียงใหม่และ สสจ.เลย ได้แจ้งเตือนภัยให้ผู้บริโภคทราบถึงอันตรายของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และแจ้งเบาะแสมายัง "อย."จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีการลักลอบผลิตตามบ้านและโกดังในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และขายผ่านแพลตฟอร์มส่งทั้งในไทยและประเทศพื่อนบ้านจำนวนมาก
โดยวันที่ 22 มีนาคม 2565 เจ้าหน้าตำรวจ และ สสจ.ขอนแก่น จึงได้นำหมายค้น"ศาลจังหวัดพล"เข้าตรวจค้นสถานที่ผลิตและเก็บอาหารและผลิตภัณฑ์"สมุนไพรผิดกฎหมาย"ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 4 จุด รายละเอียดดังนี้
1. บ้านสองชั้น ตำบลใหม่นาเพียง อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น ตรวจยึดของกลาง จำนวน 17 รายการ
2. บ้านชั้นเดียว ตำบลใหม่นาเพียง อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น ตรวจยึดของกลางจำนวน 9 รายการ
3. บ้านจัดสรรในตำบลโจดหนองแก อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น จำนวน 16 รายการ
4. อาคารชั้นเดียว จำนวน 4 คูหา ตำบลโนนข่า อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น จำนวน 21 รายการ
โดยทั้ง 4 จุด พบของกลางน้ำสมุนไพร กว่า 20,000 ขวด, ยาเม็ดในกลุ่ม "สเตียรอยด์" จำนวนกว่า 2,092,000 เม็ด, ยาเม็ดแก้ปวดไม่มีทะเบียน จำนวนกว่า 2,224,000 เม็ด ยาเม็ดแก้แพ้ จำนวนกว่า 5,000 เม็ด รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์การผลิตจำนวนมาก จากนั้นนำของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อไป
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562
- ผลิต ขาย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม อันเป็นความผิดตามมาตรา 58 (1) ประกอบมาตรา 59 (3)ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แสดงที่ตั้งสถานที่ผลิตซึ่งไม่ใช่ความจริง และมาตรา 59 (5) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามตำรับที่ขึ้นทะเบียน แจ้งรายละเอียด หรือจดแจ้งไว้ซึ่งไม่ใช่ความจริง โทษสูงสุดตามมาตรา 101 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
- ผลิต ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ เป็นความผิดตามมาตรา 58(4) โทษสูงสุด ตามมาตรา 106 โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522
- แสดงฉลากเพื่อลวงอาหารปลอมตามมาตรา 27 (4)/ ฝ่าฝืนมาตรา 25 (2) โทษตามมาตรา มาตรา 59 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 100,000 บาท