"บีม ปภังกร" เสียชีวิต อาจไม่ใช่ "ใหลตาย" เพราะมีปัจจัยอื่นบ่งชี้อีก
แพทย์ยังไม่สรุป "บีม ปภังกร" เสียชีวิตจาก "ใหลตาย" เพราะมีสิ่งอื่นบ่งชี้ได้อีก ต้องถอดรหัสพันธุกรรม รักษาได้แต่ไม่หายขาด
จากกรณีการเสียชีวิตของ "บีม ปภังกร" นักแสดงหนุ่ม ซึ่งมีร่างกายแข็งแรง อายุน้อย ไม่มีประวัติโรคประจำตัว หรืออาการของโรคหัวใจมาก่อน โดยรายงานข่าวกล่าวถึง โรค "ใหลตาย" (Brugada Syndrome) นั้น
(25 มี.ค.2565) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การเสียชีวิตอย่างกะทันหันจากโรคหัวใจที่เกิดภายในหนึ่งชั่วโมง หลังเริ่มมีอาการจากการทำงานของระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ทำให้หัวใจห้องล่างมีการเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงหรือ เต้นพลิ้ว (ventricular tachycardia/ ventricular fibrillation หรือVT/VF) ซึ่งเกิดขึ้นทันที โดยไม่มีสัญญาณเตือน
จากภาวะดังกล่าว ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะเกิดอาการวูบหมดสติ เนื่องจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง อาจจะมีอาการชักเกร็งกระตุกร่วมด้วย ผู้ป่วยไม่หายใจ และคลำชีพจรไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องมีการกู้ชีพ (CPR) ทันที เพื่อให้มีออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ จนกว่าการทำงานของหัวใจจะกลับมาเต้นปกติ โดยใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (AED) การปล่อยให้ล่าช้านานเท่าไหร่โอกาสการรอดชีวิตจะลดลง และถ้าสมองขาดเลือดนานเกินไปผู้ป่วย อาจจะฟื้นแต่มีความพิการทางสมองตามมา
ส่วนกรณีของ "บีม ปภังกร" ซึ่งไม่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นโรค "ใหลตาย" จริง ต้องมีผลการตรวจกราฟไฟฟ้าหัวใจก่อนเสียชีวิต ว่ามีลักษณะจำเพาะที่บ่งบอกได้ว่าเป็น Brugada pattern และรอผลการพิสูจน์จากสถาบันนิติเวชว่า ไม่มีโรคหัวใจชนิดแฝงอื่น หรือโดยวิธี ถอดรหัสพันธุกรรม การรักษาผู้ป่วย Brugada Syndrome ยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่การรักษาที่สำคัญ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาโดยการผ่าตัดฝั่งเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ และการรักษาอาการ โดยการใช้ยา
1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สำคัญ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการได้รับยาที่ทำให้เกิดกราฟไฟฟ้าหัวใจผิดปกติมากขึ้น ได้แก่ ยารักษาหัวใจเต้นผิดปกติ (Class Ia ,Ic) ยารักษาจิตเวชบางกลุ่ม ยาชายาสลบบางกลุ่ม งดการดื่มแอลกอฮอล์ ถ้ามีอาการไข้สูงต้องรีบทำการรักษาลดอาการไข้สูง
2. การรักษาโดยวิธีผ่าตัดฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (AICD implantation ) ในผู้ป่วย Brugada syndrome ที่รอดจากการเสียชีวิตกะทันหัน หรือตรวจพบภาวะหัวเต้นผิดปกติชนิดร้ายแรง
3. การรักษาโดยการให้ยา Quinidine (ไม่มียาในประเทศไทย) ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถจะรับการรักษาโดยวิธีผ่าตัดฝั่งเครื่องกระตุกไฟฟ้า หรือเพื่อลดการกระตุกของเครื่องกระตุกไฟฟ้า ลดอาการ และภาวะแทรกซ้อนจากการกระตุกรักษาของเครื่อง ซึ่งการรักษาโดยวิธีการศึกษาสรีระไฟฟ้าหัวใจ และการรักษาโดยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าในผู้ป่วยที่ไม่สามารถจะรับการรักษา
โดยวิธีผ่าตัดฝั่งเครื่องกระตุกไฟฟ้า หรือเพื่อลดการกระตุกของเครื่องกระตุกไฟฟ้าลดอาการ และภาวะแทรกซ้อนจากการกระตุกรักษาของเครื่อง เป็นการรักษาที่ซับซ้อนต้องใช้เครื่องมือเทคโนโลยีชั้นสูง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์หัวใจอนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจยังไม่แพร่หลาย และยังอยู่ระหว่างการศึกษาต่อเนื่อง
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า Sudden cardiac death เป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ และสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยมีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ส่วนผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปี พบการเสียชีวิตอย่างกะทันหันจากโรคหัวใจอยู่ระหว่าง 0.5 – 8 ต่อ 100,000 คนต่อปี
สาเหตุของการเกิด ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดแฝง เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic cardiomyopathy) โรคกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนแรง (Dilated cardiomyopathy) โรคใหลตาย (Brugada syndrome) ผู้ที่มีประวัติของการเสียชีวิตกระทันหันในครอบครัว ความผิดปกติในทางเดินกระแสไฟฟ้าของหัวใจความผิดปกติแต่กำเนิดของหลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ (Abnormalities of coronary arteries) ซึ่งเป็นโรคหัวใจแฝงในบางครั้งไม่แสดงอาการและดูภายนอกเหมือนปกติคนทั่วไป โรคใหลตาย (Brugada Syndrome) เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรค Cardiac channelopathy เป็นโรคทางพันธุกรรมที่โครงสร้างหัวใจปกติ (normal structural heart) มีการเปลี่ยนแปลงของยีน (SCN5A) ของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้ Ion channel ของ Sodium ทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีกราฟไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ มีลักษณะจำเพาะ (Coved-type ST-segment elevation V1-V3) ทำให้ง่ายต่อการเกิดหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติชนิดรุนแรง (polymorphic VT , ventricular fibrillation) ซึ่งทำให้ระบบหมุนเวียนโลหิตล้มเหลวหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตอย่างกะทันหัน