มนัญญา เผยนายกฯห่วงส่งออก "ผลไม้" เดินหน้าตรวจเช็คความพร้อมด่านตรวจพืช
รมช.มนัญญา เผยนายกฯห่วง "ส่งออกผลไม้" เดินหน้าตรวจเช็คความพร้อมด่านตรวจพืชแหลมฉบังรุกตลาดส่งออกฤดูผลไม้ตะวันออก
วันที่ 29 มี.ค.65 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการทำงานของด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบังพร้อมด้วยนายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร(กวก.) นายภัสชภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดี กวก.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วง "ผลไม้" ที่ผลผลิตเริ่มทยอยออกมาประกอบกับเริ่มมีข่าวบิดเบือนว่า "ผลไม้ไทย" ส่งออกไม่ได้ ซึ่งในเรื่องนี้รัฐบาลยืนยันว่าไม่เป็นความจริงเพราะ "ผลไม้ไทย" โดยเฉพาะทุเรียนตลาดต้องการมาก และที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมวิชาการเกษตร ได้มีการทำแผนเชิงรุกร่วมกับทางการจีนเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติป้องกันโควิดเป็นศูนย์เพื่อการส่งออกโดยเฉพาะกับประเทศจีน
เป็นการติดตามความพร้อมการส่งออก "ผลไม้ไทย" เพื่อให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันไวรัสโควิดของประเทศคู่ค้าเนื่องจากขณะนี้การส่งออกทางเรือจะเป็นหัวใจหลักในการส่งออกในระหว่างที่ทางบกยังมีปัญหาในเรื่องการขนถ่ายสินค้าข้ามพรมแดนจากสถานการการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด
และในปี 2565 พบว่าปริมาณ "ผลไม้" เพิ่มขึ้นจำนวนมาก นายกฯเป็นห่วงกำชับให้ช่วยดูแลใกล้ชิดและต้องช่วยกันพัฒนาด่านให้มีความพร้อมด้านเครื่องไม้เครื่องมือและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า ดังนั้นวันนี้ขอฝากให้ด่านตรวจทำหน้าที่ให้เต็มกำลัง ดูแลการส่งออกให้ตรงมาตรฐานลูกค้า ขณะเดียวกันเมื่อสินค้านำเข้าไทยก็ให้ตรวจเข้มเพื่อคุ้มครองคนไทยเช่นกันและอย่าให้เกิดการสวมสิทธิทุเรียนไทยไปส่งออกอย่างเด็ดขาด เพื่อรักษาชื่อเสียงทุเรียนไทย
ซึ่งจะเห็นว่าเมื่อต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาเจอสวมสิทธิทุเรียนไทยเพื่อส่งออกไปประเทศที่สาม และพบว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ หากผ่านด่านไปได้ความเสียหายจะเกิดกับทุเรียนไทยทั้งประเทศ เพราะฉนั้นขอให้ทำการตรวจเต็มที่อย่าอลุ่มอล่วยกับสินค้าเกษตร มนัญญากล่าว
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า กรมได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเพื่อขอใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phyto certificate) กรมวิชาการเกษตรได้นำระบบขอใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์(e Phyto Certificate) มาใช้ ตั้งแต่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เบื้องต้นนำร่องระบบใช้กับ "ผลไม้" 22 ชนิดไปจีนเพื่อรองรับฤดูกาลส่งออก "ผลไม้ภาคตะวันออก" เป็นการสร้างความมั่นใจในการผลิตสินค้าคุณภาพที่มาจากแปลงเกษตรที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตที่ดี สามารถตรวจสอบย้อนกลับและสร้างความน่าเชื่อถือ
ให้ประเทศผู้นำเข้าได้รวมทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ
นายภัสชญภณ กล่าวว่า ตั้งแต่ ก.พ.65 เป็นต้นมา มีการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนแล้ว 6,238 ชิปเม้นท์ ปริมาณ 177,522.78 ตัน มูลค่าประมาณ 3,390 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออกทางเรือ ประมาณ 62 % ทางบก 26% และทางอากาศ 12 %
สำหรับการดำเนินการของด่านฯดังกล่าวจะปฏิบัติงานตามกฎหมาย 4 ฉบับของกรมวิชาการเกษตรประกอบด้วย พรบ.กักพืช พ.ศ.2507 พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
ทั้งนี้พบว่าในปี 2564 มีการออกใบรับรองสุขอนามัยตามพ.ร.บ.กักพืช จำนวน 66,166 ฉบับ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญคือ ข้าวปริมาณ 4,354,909 ตัน มูลค่า 69,406 ล้านบาท มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ 6,085,922 ตัน มูลค่า52,715 ล้านบาท ไม้ยูคาลิปตัส(สับ)1,518,465 ตันมูลค่า10,488 ล้านบาท
ขณะที่สินค้านำเข้าประกอบด้วย เมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง 6.1 ล้านตัน มูลค่า107,689 ล้านบาท ข้าวสาลี 1.3 ล้านตัน มูลค่า 22,531 ล้านบาท ข้าวบาร์เลย์เพื่อผลิตอาหารสัตว์ 6.5 แสนตัน มูลค่า 5,042 ล้านบาท
สำหรับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พบว่ามีการแจ้งขอนำเข้าสูตร 46-0-0 จำนวน 1,895,942 ตัน มูลค่า 24,325 ล้านบาท สูตร18-46-0 จำนวน 428,259 ตัน มูลค่า8,012 ล้านบาท สูตร 0-0-60 จำนวน 732,485 ตัน มูลค่า 7,910 ล้านบาท ส่งออกปุ๋ยสูตร 21-0-0จำนวน 1.08 แสนตัน มูลค่า 684 ล้านบาท สูตร30-9-9 จำนวน945 ตัน มูลค่า 18 ล้านบาท สูตร 18-18-18 จำนวน630 ตัน มูลค่า 12 ล้านบาท
นอกจากนั้นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พบว่ามีการนำเข้าสารป้องกันกำจัดโรคพืช จำนวน 3,697 ตัน มูลค่า2,965 ล้านบาท สารกำจัดแมลง 3,032 ตัน มูลค่า 1,047 ล้านบาท สารกำจัดวัชพืช จำนวน 3,601 ตัน มูลค่า 729 ล้านบาทและมีการส่งออกสารกำจัดโรคพืช 2,051 ตัน มูลค่า1,046 ล้านบาท สารชนิดอื่น 2,463 ตัน มูลค่า 165 ล้านบาท สารกำจัดวัชพืช 77 ตัน มูลค่า41 ล้านบาท สำหรับการปฏิบัติตามพ.ร.บ.กักพืชการนำเข้าและส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชควบคุมมีปีละ 2-3 ชิปเมนท์