ข่าว

สถานการณ์ "ราคายาง" สดใส สงคราม-โอไมครอน ปัจจัยหนุน

สถานการณ์ "ราคายาง" สดใส สงคราม-โอไมครอน ปัจจัยหนุน

30 มี.ค. 2565

สิ้นสุดไตรมาสแรกปี 2565 สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนยังอยู่ในอัตราที่สูง ในขณะที่สงครามระหว่างประเทศรัสเซียกับยูเครนส่อเค้าจะยืดเยื้อยาวนานแต่แนวโน้มราคา "ยางพารา" ทุกชนิดกลับมีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด "ราคายาง" ในสัปดาห์สุดท้ายของไตรมาสแรก ยางก้อนถ้วยอยู่ที่กิโลกรัมละกว่า 50 บาท  น้ำยางสดราคาขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 66.70 บาท ยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 63.00 บาท เช่นเดียวกับยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา ณ ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลาได้พุ่งทะลุ 70บาทไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 70.09 บาท 

 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงสถานการณ์ "ยางพารา" ของไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 6.35% เหลือผลผลิตออกสู่ตลาดเพียง 1.19 ล้านตัน เพราะขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดกรีดยางแล้ว

สถานการณ์ \"ราคายาง\" สดใส สงคราม-โอไมครอน ปัจจัยหนุน

นอกจากนี้สวนยางไทยในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกยังต้องเผชิญกับการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่รวมประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งไม่ต่างจากสวนยางในประเทศ ผู้ปลูกยางรายใหญ่อื่น ๆ อย่างเช่นอินโดนีเซีย และเวียดนาม
ก็ได้รับผลกระทบจากการะบาดของโรคดังกล่าวเช่นกันโดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง มีสวนยางพาราได้รับผลกระทบมากกว่า 2 ล้านไร่

สถานการณ์ \"ราคายาง\" สดใส สงคราม-โอไมครอน ปัจจัยหนุน

 

ปริมาณผลผลิตลดลงแต่ความต้องการใช้ "ยาง" มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ที่ต่างมีค่าดัชนี PMI (ตัวชี้วัดแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต หากมีค่ามากกว่า 50 หมายถึงเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวจากระดับปัจจุบัน) ขยายตัวเหนือระดับ 50 เช่นเดียวกับประเทศจีนที่มีดัชนี PMI เพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงระดับ 50 แล้วประกอบกับปริมาณสต๊อกยางในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง 

สถานการณ์ \"ราคายาง\" สดใส สงคราม-โอไมครอน ปัจจัยหนุน

 

อาทิ สต๊อกยางเมืองชิงเต่าที่นําเข้ายางมากที่สุดในโลก และเป็นฐานสำคัญในการผลิตล้อยาง จากเดิมที่มีสต๊อกยางถึง 600,000 ตัน ปัจจุบันเหลือแค่ไม่ถึง 227,000 ตัน เช่นเดียวกับสต๊อกยางตลาดเซี่ยงไฮ้ และสต๊อกยางตลาดญี่ปุ่นก็มีปริมาณลดลงจำเป็นจะต้องจัดซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงในภาคการผลิต คาดว่า การส่งออกยางไทยในปี 2565 จะส่งออกประมาณ 4.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03% โดยไตรมาสแรกจะส่งออกประมาณ 1.11 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.29%

แนวโน้ม "ราคายางพารา" ในปี 2565 น่าจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ยางมากกว่ากำลังการผลิต คาดว่าผลผลิตยางทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 14,544 ล้านตัน ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5 ความต้องการใช้ยางจะพุ่งสูงขึ้นถึง 14,822 ล้านตัน ยางจะขาดตลาดแน่นอน

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เกื้อหนุนอีก เช่น ประเทศจีนที่เข้าสู่ฤดูหนาว สวนยางในมณฑลยูนนานและมณฑลไห่หนานจึงหยุดกรีดยางแล้ว รวมทั้งกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การลดโลกร้อน กำลังมาแรงทำให้อุตสาหกรรม
รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นยานยนต์ที่ไม่มีมลพิษในจีนขยายตัว ความต้องการยางล้อสำหรับรถไฟฟ้าจึงเพิ่มขึ้นด้วย เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาทิ ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง สายยาง ในปริมาณเพิ่มมากขึ้นอีกด้วยล้วนเป็นปัจจัยหนุนทำให้ "ราคายาง" มีสูงขึ้น นายณกรณ์กล่าว

 

ขณะเดียวกันการเปิดใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เป็นโอกาสของการส่งออกยางทางรถไฟไปยังประเทศจีน ผ่านประเทศได้เร็วขึ้นใช้เวลาประมาณ 3 วันเท่านั้นจากเดิมขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังถึงชิงเต่าใช้เวลาประมาณ 14-16 วัน

 

หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ แล้ว "ราคายาง" ในปี 2565 น่าจะมีแนวโน้มที่ปรับตัวเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจะต้องพัฒนาและปรับปรุงการทำสวนยางให้ได้มาตรฐานสากลตามที่ กยท.แนะนำ เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตยางแล้ว ยังป้องกันไม่ให้ต่างชาตินำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าอีกด้วย ผู้ว่าการ กยท.กล่าว 
 

ส่วนการระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังไม่ลดลงในขณะนี้นั้น น่าจะเป็นปัจจัยบวก ทำให้ความต้องการใช้ยางในเป็นวัตถุดิบ ผลิตถึงมือยาง และชุดPPE  รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆเพิ่มขึ้น

 

สำหรับการเกิดสงครามระหว่างประเทศรัสเซียกับประเทศยูเครนนั้น  ผู้ว่าการ กยท.ได้แสดงความคิดเห็นว่าน่าจะส่งผลบวกต่อ "ยางพารา"มากกว่าผลลบ เพราะประเทศคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะรัสเชีย เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกมีการนำเข้ายางพาราจากไทยไม่มากนัก

 

ดังนั้น เมื่อเกิดสงครามน้ำมันมีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้ยางสังเคราะห์ที่เป็นคู่แข่งสำคัญของยางธรรมชาติ(ยางพารา)แพงขึ้นตาม  ตลาดจะหันมาให้ความสำคัญกับ "ยางพารา"มากขึ้น เพื่อทดแทนยางสังเคราะห์ที่มีราคาสูงขึ้น  ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราคารายใหญ่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในโลกก็จะได้รับประโยชน์โดยตรง

 

นอกจากนี้ภาวะสงครามน่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ทำให้เราส่งออกสินค้าของไทยได้มากขึ้นรวมทั้งยางพาราด้วย

 

ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมด ฟันธงได้เลยว่า...แนวโน้ม "ราคายางพารา" สดใสอย่างมีเสถียรภาพ