คลังสั่งปิด-เพิกถอนใบอนุญาต "อาคเนย์ประกันภัย-ไทยประกันภัย" เหตุผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่เพิ่มทุน ลอยแพผู้เอาประกัน
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทประกันภัย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท "อาคเนย์ประกันภัย" จำกัด (มหาชน) และบริษัท "ไทยประกันภัย" จำกัด (มหาชน) เนื่องจากพบว่าทั้งสองบริษัท มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จนไม่สามารถดำเนินการธุรกิจต่อได้
ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 670/2565 และคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 671/2565 ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะเข้ามาเป็นผู้ชำระบัญชี และดำเนินการจ่ายเคลมสินไหมให้กับผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนใบอนุญาตทั้งสองบริษัท
เลขา คปภ. กล่าวต่อว่า ได้ขอให้ผู้บริหารของกลุ่มทุนดังกล่าว ไปทบทวนการรับผิดชอบการรับประกันภัย กลับกันผู้ถือหุ้นของบริษัทจะไม่สนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมอีก จนมีปัญหาการประวิงเวลา การเบิกจ่ายค่าชดเชยล่าช้า ดังนั้นหากปล่อยเวลาไป ส่งผลกระทบต่อประชาชน ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงต้องเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อยุติปัญหา ไม่ให้ความเสียหายต่อผู้บริโภคลุกลามไปมากกว่านี้
สำหรับผลกระทบครั้งนี้ เลขาธิการ คปภ. ยืนยันว่า ความเสียหายยังจำกัดเพียงแค่ "อาคเนย์ประกันภัย" กับ "ไทยประกันภัย" เท่านั้น ไม่ได้ส่งกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจประกันภัยทั้งหมด นอกจากนี้ คปภ.ยังได้ยื่นดำเนินการกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ตรวจสอบผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวทุกรายแล้ว
ส่วนผู้เอาประกันที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ ทาง คปภ.ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งสำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง และสำนักงานส่วนภูมิภาค ทั่วประเทศ
"กรมธรรม์ประกันโควิดส่วนที่เหลือ จะถูกถ่ายโอนไปยังกองทุนประกันวินาศภัย และในวันที่ 4 เม.ย. จะหารือกับบริษัทประกันภัย จำนวน 15 บริษัท เป็นบริษัทประกันวินาศภัย 10 บริษัท และประกันชีวิต 5 บริษัท เข้ามาดูแลกรมธรรม์ไม่ใช่โควิดที่เหลือ 269 ราย หรืออาจจะมีการเจรจาคืนเบี้ยประกัน หลังจากโอนพอร์ตประกันอัคคีภัย และประกันรถยนต์ไปยังอินทรประกันภันแล้วที่ยินดีจะรับโอน รวมถึงประกันภัยโควิด โอนไปยังทิพยประกันภัย
จะต้องเปลี่ยนความคุ้มครองเป็นโคม่าและแนวทางที่ผู้เอาประกันภัยต้องปฏิบัติต่อไปซึ่งจะเป็นไปในแนวทางเดียวกับสองบริษัทประกันภัยที่ปิดไปก่อนหน้านี้ "