ข่าว

"ผู้ประกันตนตามมาตรา 33" ส่งทุกเดือน เงินไปไหนบ้าง

"ผู้ประกันตนตามมาตรา 33" ส่งทุกเดือน เงินไปไหนบ้าง

02 เม.ย. 2565

การจัดเก็บเงินสมทบ "ผู้ประกันตามมาตรา 33" ในกรณีเจ็บป่วย เพื่อดูแลรักษาผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ถูกนำไปแบ่งจัดสรร ดังนี้

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม ได้จัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง และ "ผู้ประกันตนมาตรา 33" นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน "ประกันสังคม" ในอัตราฝ่ายละ ร้อยละ 5 ของค่าจ้าง

โดย "ผู้ประกันตนมาตรา 33" ที่ได้จัดเก็บเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 นั้น จะถูกแบ่งออกเป็น
- กรณีเจ็บป่วยอัตราร้อยละ 1.06
- กรณีคลอดบุตรอัตราร้อยละ 0.23
- กรณีทุพพลภาพอัตราร้อยละ 0.13
- กรณีตายอัตราร้อยละ 0.08



รวมการจัดเก็บทั้ง 4 กรณี อัตราร้อยละ 1.50 อีกทั้งได้แบ่งเป็นการจัดเก็บเงินสมทบอีก 3 กรณี คือ กรณีสงเคราะห์บุตรกับกรณีชราภาพร้อยละ 3.00 และกรณีว่างงานอีกในอัตราร้อยละ 0.50

 

\"ผู้ประกันตนตามมาตรา 33\" ส่งทุกเดือน เงินไปไหนบ้าง

 

 

โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงการจัดเก็บเงินสมทบร้อยละ 1.06 เพื่อดูแลรักษาผู้ประกันตน ในยามเจ็บป่วยนั้น "สำนักงานประกันสังคม" ได้ให้สิทธิการรักษาในสถานพยาบาลตามมาตรฐานการให้บริการ ทางการแพทย์แก่ "ผู้ประกันตนตามมาตรา 33" โดยสถานพยาบาลมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ "ผู้ประกันตน" อย่างเต็มกำลังความสามารถตลอด 24 ชั่วโมง และจัดหายาเวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ "ผู้ประกันตน" อย่างเพียงพอจนสิ้นสุดการรักษาโดยไม่จำกัดจำนวนเงินค่าใช้จ่าย และจำนวนครั้งที่เข้ารับการรักษา
 

โดยสถานพยาบาลจะไม่เก็บค่าบริการทางการแพทย์จาก "ผู้ประกันตน" โดยเฉพาะ การสั่งจ่ายยาที่ใช้สำหรับ "ผู้ประกันตน" จะต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ และจะต้องจัดให้ "ผู้ประกันตน" โดยไม่เรียกเก็บเงินเพิ่ม


ในกรณีที่ "ผู้ประกันตนตามมาตรา 33" ได้รับอุบัติเหตุ หรือมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่มีความเสี่ยง ต่อการเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดยไม่ถูกทวงถาม สิทธิก่อนรักษา ไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่ถูกบ่ายเบี่ยงการรักษา และได้รับการดูแลรักษาจนสิ้นสุดการรักษา



นอกจากสิทธิการรักษาพยาบาลแล้ว "ผู้ประกันตน" สามารถเบิกเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วันต่อปี อีกด้วย

โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวอีกด้วยว่า "สำนักงานประกันสังคม" ได้มีการควบคุมคุณภาพการให้บริการของสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม โดยมีการตรวจประเมินคุณภาพของสถานพยาบาล เป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจสอบความพร้อมของสถานพยาบาลตามมาตรฐานในด้านการบริการทางการแพทย์เป็นสำคัญ หากพบสถานพยาบาลใดมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้จะได้รับการลงโทษตามประกาศสำนักงานประกันสังคม คือ ว่ากล่าวตักเตือน ลดจำนวนโควตา "ผู้ประกันตน" ในปีต่อไป ส่งเรื่องให้แพทยสภา หรือยกเลิกสัญญาจ้างแล้วแต่กรณี



อย่างไรก็ตามหาก "ผู้ประกันตนตามมาตรา 33" ไม่ได้รับ ความสะดวกในการเข้ารับบริการทางการแพทย์กับสถานพยาบาลในระบบประกันสังคมสามารถร้องเรียน มาได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง หรือที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด / สาขา ทั่วประเทศที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง