สายบุญ ห้ามพลาด ประเพณี "แห่ช้างบวชนาค" ไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว สืบสาน 178 ปี
ไฮไลท์ของงานจะอยู่ที่ขบวนแห่นาค โดยใช้ช้าง ที่ได้รับการตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์ของชุมชนชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว
วันที่ 3 เม.ย.65 มาที่เรื่องดี ๆ สายบุญไม่ควรพลาด และเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัยในเดือนเมษายนนี้
ที่ผ่านมา นายสมพงค์ ชมชัย นายอำเภอศรีสัชนาลัย นางรุ่งอรุณ คำโมง นายกเทศมนตรีตำบลหาดเสี้ยว แถลงข่าวจัดงานประเพณีแห่ช้างบวชนาคชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ระหว่างวันที่ 7- 8 เมษายน 2565 ณ วัดหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ไฮไลท์ของงานจะอยู่ที่ขบวนแห่นาค โดยใช้ช้าง ที่ได้รับการตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์ของชุมชนชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ช้างแต่ละเชือกจะเขียนชื่อของนาคที่ลาบวชด้วยสีสันต์สวยงาม ส่วนนาค ที่จะเตรียมบวชในครั้งนี้ ญาติจะแต่งองค์ทรงเครื่องกันอย่างวิจิตรประณีต ด้วยการนุ่งผ้าม่วงสวมเสื้อกำมะหยี่สีสดใส ประดับสร้อยทอง แหวนเพชร พลอย งามระยับแพรวพราว แต่งหน้าทาปากอย่างงดงาม ซึ่งเป็นกุศโลบาย อันหมายถึงผู้ที่ยังลุ่มหลงกับกิเลสและทรัพย์ภายนอก
สวมแว่นดำ อันหมายถึงผู้ที่ยังมืดบอดด้วยปัญญายังมิได้ศึกษาพระธรรม ที่ศีรษะสวมเทริด อันเป็นเครื่องทรงของพระอินทร์ และเป็นสัญลักษณ์ของหงอนพญานาค หูทั้งสองข้างแขวนด้วยกระจกชิ้นเล็ก เพื่อไว้สำรวจตัวเอง ประนมมือถือสักกัจจัง อันเป็นเครื่องบูชา นาคจะนั่งบนหลังช้าง
ในขณะที่ชาวไทยพวนในตำบลหาดเสี้ยว ผู้มาร่วมขบวนแห่นาคและเครือญาติ ต่างแต่งตัวด้วยชุดพื้นบ้าน ร่ายรำสนุกสนาน ใส่หมวกบังแดงใบใหญ่ที่เขียนชื่อนาคที่บวช และแตรวงบรรเลงเพลจังหวะสนุก นำหน้าช้างที่ถูกแต่งแต้มสีสันแปลกตา สะท้อนภาพวิถีชีวิตให้เห็นถึงความสามัคคี มีความสนุกสนานรื่นเริงในการร่วมขบวนแห่นาค
ซึ่งการแห่นาคด้วยขบวนช้าง หรือแห่ช้างบวชนาค ที่คนสุโขทัยมักเรียกติดปากว่างาน "บวชช้าง" หมายถึง การจัดงานบวช ที่ให้ นาคขี่คอช้าง พร้อมด้วยญาติมิตร นำอัฐบริขารขี่บนหลังช้างแห่เป็นริ้วขบวนไปรอบเมืองของชาวไทยพวนหาดเสี้ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาน และเป็นความเชื่อทางพุทธศาสนาในเรื่องพระเวสสันดรชาดก ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานกว่า 178 ปี
ศรีสุดา ชัยวงศ์ศรีอรุณ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.สุโขทัย