ทหารโดดร่วมทุนเอกชน พัฒนา "ธุรกิจการบิน" ครบวงจร
ทหารโดดร่วมทุนเอกชน พัฒนา "ธุรกิจการบิน" ครบวงจร โรงเรียนการบิน ขนส่ง ซ่อมบำรุง และเป็นสะพานอากาศเชื่อมความช่วยเหลือระหว่างประเทศ เชื่อฟื้นตัวเร็วกว่าธุรกิจอื่น
บริษัทไทยแอร์โรนอติคอล เซ็นเตอร์ (Thai Aeronautical Center หรือTAC) โดยพล.อ.ต.กมล ผิวดำ ประธานกรรมการบริษัท ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งจากหน่วยงานของรัฐและบริษัทอุตสาหกรรมการ
บินขนาดใหญ่ของประเทศกว่า 30 ปี ลงนามสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท เอวิเอชั่น เมนเทนแนนซ์ เอ็กซ์เพิร์ท เอ็นเตอร์ไพรสจำกัด(AviationMaintenance Expert Enterpriseหรือ AMEE)บริษัทน้องใหม่ "อุตสาหกรรมการบิน"โดยนางสาวภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ ประธานกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา
พล.อ.ต.กมล กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้การส่งเสริมและพัฒนา"อุตสาหกรรมการบิน" ให้เติบโตอย่างครบวงจร ทั้งเรื่องของการฝึกบิน การขนส่ง และการซ่อมบำรุง ปัจจุบัน TAC มีโรงเรียนการบิน เปิดให้บริการด้านการฝึกบินภายใต้ชื่อ TAC Flying Academy เป็นสถาบันการบินเอกชนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) และมุ่งเน้นผลิตนักบินพาณิชย์ ด้วยหลักสูตรที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลขององค์การบินระหว่างประเทศ (ICAO)
นอกจากนี้ TAC ได้สร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ซ่อมบำรุงอากาศยานของโรงเรียนในเบื้องต้น และให้บริการกับอากาศยานภายนอกควบคู่ไปพร้อมกัน โดยขั้นตอนการทำงานทั้ง 2 รูปแบบอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลมาตรฐานการดำเนินการอย่างเข้มงวด เพื่อให้มีความปลอดภัยในมาตรการการเดินอากาศระดับสากล
พล.อ.ต.กมล กล่าวถึงแนวโน้มของ "อุตสาหกรรมการบิน"ว่า ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป "ธุรกิจด้านการบิน" มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เพราะมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจและการค้าทยอยฟื้นตัว การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด 19 มีความคืบหน้าและใช้กันแพร่หลายมากขึ้นสายการบินเริ่มปรับตัวออกมาตรการดูแลความปลอดภัยด้านการป้องกันโรคมากขึ้น เกิดการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวเพิ่มขึ้น บริษัทผู้สร้างเครื่องบินขนาดใหญ่ประกาศว่ามีคำสั่งซื้อเครื่องบินในปี 2564-2569 มีเข้ามาเป็นจำนวนมาก คาดว่าธุรกิจการบินจะค่อย ๆ ขยายตัวและภายในปี 2575 ในทุก ๆ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยเฉพาะท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง
นาวาอากาศโท ดร.พงศ์พันธ์ แก้วจินดา กรรมการผู้จัดการบริษัท AMEE กล่าวถึงจุดประสงค์การร่วมทุนในครั้งนี้ว่า เป็นการแสวงหาพันธมิตรใน "ธุรกิจการบิน" และกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยาน พันธมิตรทั้งสองฝ่ายต่างเติมเต็มจุดแข็งให้กันและกันโดยการสนธิองค์ประกอบด้านต่าง ๆ อาทิ ความรู้ความชำนาญ เทคโนโลยี ประสบการณ์ ผลงาน และทรัพยากรทางธุรกิจ อันจะนำพา TAC และ AMEE ไปสู่จุดหมายในการเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจการบินและกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ยั่งยืน และได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของผู้รับการบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยแบ่งเป้าหมายเป็น 3 ระยะ คือระยะสั้น มุ่งเน้นธุรกิจการให้บริการด้านกิจการการบิน โดยการขับเคลื่อนโรงเรียนการบิน และ การให้บริการด้านกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยาน ในส่วนของเครื่องบินเล็ก ทั้งในภาคเอกชน เครื่องบินส่วนตัว และเครื่องบินของภาครัฐ
ระยะกลาง ดำเนินธุรกิจด้านการขายเครื่องบินเล็กส่วนตัว รวมถึงการให้บริการด้านกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยานอย่างครบวงจร การให้บริการด้านการซื้อขายชิ้นส่วนอาศยาน อะไหล่ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ขยายขีดความสามารถของโรงเรียนการบินโดยการเพิ่มหลักสูตรที่เป็นที่ต้องการของตลาดนักบิน และขยายขีดความสามารถการให้บริการด้านกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อรองรับการให้บริการที่ครบวงจรและระยะยาว ดำเนินธุรกิจด้านการขายเครื่องบินเล็กส่วนตัว
รวมถึงให้บริการด้านกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยานอย่างครบวงจรในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน การให้บริการด้านการซื้อขายชิ้นส่วนอาศยาน ขยายขีดความสามารถของโรงเรียนการบินโดยการขออนุญาตหลักสูตร ให้เป็นที่ยอมรับของกรมการบินพลเรือนของประเทศเพื่อนบ้าน และ ขยายขีดความสามารถการให้บริการด้านกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อรองรับการให้บริการที่ครบวงจรในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ขยายขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจด้านให้บริการเครื่องบินเชิงพาณิชย์ รวมถึงการให้บริการด้านกิจการการซ่อมบำรุงอากาศยานขนาดใหญ่ ขออนุญาตเปิดโรงเรียนช่างเทคนิคการซ่อมบำรุงอากาศยาน ในระดับวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อผลิตช่างวิชาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการมากในอุตสาหกรรมการบิน
ด้านนางสาวภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ ประธานกรรมการ บริษัท AMEE กล่าวว่า บริษัท AMEE แม้จะถือว่าเป็นน้องใหม่ของวงการอุตสาหกรรมการบิน มีอายุเพียง 3 ปี แต่บุคลากรของบริษัทเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและมากไปด้วยประสบการณ์ในธุรกิจการบิน และการร่วมทุนกับ TAC ในครั้งนี้เพราะเห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาธุรกิจการบินของไทยให้ก้าวสู่แถวหน้าภูมิภาคซึ่งเป็นเจตนารมณ์เดียวกันกับบริษัท AMEE จึงได้มาขยายความร่วมมือด้านธุรกิจการบินในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม นางสาวภิญญ์ชยุตม์ มองว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมการบินจะอยู่ในสภาวะวิกฤตินับแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมอื่นของโลก แต่ในท่ามกลางวิกฤตินี้ กิจกรรมการบินนับเป็นกลุ่มธุรกิจแรกที่เริ่มฟื้นตัว ดังจะเห็นได้จากการขนส่งด้วยอากาศยาน ได้ทำหน้าที่เป็นสะพานอากาศ (Air bridge) เชื่อมส่งความช่วยเหลือของประเทศต่างๆเข้าหากันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พล.อ.ต.กมล ผิวดำ ประธานกรรมการบริษัท TAC นั้น มีความเชี่ยวชาญในการดูแลการซ่อมเครื่องบินมาอย่างต่อเนื่อง เป็นวิศวกรควบคุมการรับชิ้นส่วนเครื่องบินแบบต่าง ๆ ของกองทัพอากาศเพื่อใช้ในการซ่อมเครื่องบินที่ชำรุด เป็นวิศวกรวางแผนและการควบคมการสร้างโครงการสร้างเครื่องบินฝึกของกองทัพอากาศ ทำการตรวจซ่อมเครื่องบินของหน่วยซ่อมบำรุงของกองทัพอากาศ ตามหน่วยบินและศูนย์ซ่อมทั่วประเทศ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะก่อตั้ง บริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด
และยังเป็นผู้ออกแบบระบบคอมพิวเตอร์สำหรับงานบริการกิจการซ่อมเครื่องบิน ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการคือ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด จากนั้นได้มาก่อตั้งบริษัท TAC โดยสร้างโรงเรียนการบิน และสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน