สายปิ้งย่าง "วันสงกรานต์" ไม่ขาด กุ้งก้ามกราม บ่อเลี้ยงพร้อมเสิร์ฟเต็มที่
ช่วง "เทศกาลสงกรานต์" ยังจะมีกุ้งพร้อมจำหน่ายอย่างเพียงพอ และอาจจะขาดตลาดหลังเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากกุ้งขายดีและโตไม่ทัน
วันที่ 10 เม.ย.65 เมนูปิ้งย่างยอดฮิต ต้องมีกุ้งก้ามกราม เป็นส่วนประกอบหลัก และยิ่งวันหยุดยาวหลายวันด้วย เชื่อแน่นว่า ร้านปิ้งย่าง และครอบครัวต่าง ๆ ก็จะหาซื้อเก็บไว้ล่วงหน้า เพื่อปิ้งย่างกินในบ้าน ปิ้งย่างขาย วันสงกรานต์ สำรวจแหล่งกุ้งก้ามกราม และยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจอันดับต้นของจังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ่อค้าคนกลางจากต่างจังหวัดทั่วภาคอีสาน เข้ามารับซื้อกุ้งก้ามกรามสดๆจากบ่อ พร้อมสั่งจองล่วงหน้า เพื่อนำไปส่งร้านอาหารและจุดรับซื้อ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายอาทิตย์ ภูบุญเติม อายุ 52 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม บ้านตูม หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า การจับกุ้งก้ามกรามเพื่อจำหน่าย กลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากหลายพื้นที่ได้มีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 โดยตนเองนั้นได้สำรองกุ้งก้ามกราม ที่ได้ขนาดจับจำหน่าย เฉลี่ย 20-25 ตัว ต่อกิโลกรัม เพื่อขายในเทศกาลสงกรานต์ ประมาณ 2-3 ตัน โดยจะมีพ่อค้าจากต่างจังหวัดมาจองไว้ และนัดหมายมารับที่ปากบ่อเที่ยวละ 100-200 กิโลกรัม
ราคาขายส่งที่ปากบ่อ กิโลกรัมละ 250 บาท ขณะที่พ่อค้าคนกลางจะบวกเพิ่มค่าขนส่งอีก กิโลกรัมละ 20-30 บาท ตามระยะทาง ทั้งนี้จากการสอบถามพ่อค้าคนกลาง สถานการณ์โควิดที่ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการซื้อขายในเทศกาลสงกรานต์ เพราะกุ้งก้ามกรามได้ชื่อว่าเป็นเมนูยอดฮิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์
สามารถปรุงอาหารได้หลายเมนู และเป็นของฝากอีกด้วย
นายวีระชาติ ภูโปร่ง เลขาสมาพันธ์ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามแปลงใหญ่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบัวบาน กลุ่มนาเชือก และกลุ่มลำคลอง นอกจากนี้ ยังมีผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามรายย่อยกระจายในพื้นที่ ต.บัวบาน ต.นาเชือก และ ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด, ต.ลำคลอง ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ , ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก และ ต.เสาเล้า อ.หนองกุงศรี รวมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งแปลงใหญ่และทั่วไป ประมาณ 1,300 ราย
ปัญหาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งประสบ คือ ต้นทุนการเลี้ยง คืออาหารกุ้งและพันธุ์ลูกกุ้งที่สูงขึ้น จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องควบคุมราคาด้วย นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคสำคัญคือ สภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนในช่วงเดือนเมษายน ร้อนสลับกับฝนตก ที่เป็นสาเหตุให้กุ้งน็อคตาย เนื่องจากปรับตัวไม่ทัน
อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ยังจะมีกุ้งพร้อมจำหน่ายอย่างเพียงพอ และอาจจะขาดตลาดหลังเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากกุ้งขายดีและโตไม่ทัน
ชมพิศ ปิ่นเมือง ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.กาฬสินธุ์