ผู้ปกครองรู้ยัง "บอร์ด สพฐ." เล็งใช้ หลักสูตรแกนกลางฯใหม่ แล้วนะ
ยกเครื่องการศึกษาขั้นพื้นฐาน "บอร์ด สพฐ." เคาะแล้ว เล็งเปลี่ยนใช้ "หลักสูตรแกนกลางฯ ใหม่" ระบุ มีการนำร่องในโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมไปบ้างแล้ว
มีความชัดเจนไปแล้วจาก "บอร์ด กพฐ." ว่าไม่มีแนวคิดยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ล่าสุดก่อนหยุดยาวช่วง เทศกาล "สงกรานต์ 2565" ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ศ.นพ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประธานฐานะคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน บอร์ดกพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุม "บอร์ด กพฐ." เมื่อเร็วๆนี้ว่า ตามที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 7 ด้าน ได้แก่
1.คณะอนุกรรมการด้านความเสมอภาคและโอกาสทางการศึกษา
2.คณะอนุกรรมการด้านคุณภาพและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้
3.คณะอนุกรรมการด้านความปลอดภัย
4.คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ
5.คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
6.คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และ
7.คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ที่ประชุมได้รับรายงานการนำเสนอข้อมูลการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ หลักสูตรฐานสมรรถนะจากอนุอนุกรรมการด้านคุณภาพและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ โดยมีสำนักวิชาการและมาตฐานการศึกษาเป็นผู้ร่วมนำเสนอ ซึ่งอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าวได้นำเสนอการทบทวนกรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ศ.นพ.บัณฑิต ระบุอีกว่า ทั้งนี้ที่ประชุม "บอร์ด สพฐ." ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าหลักการกรอบแนวทางการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่หลักการ วิสัยทัศน์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ และสมรรถนะทั้ง 6 ด้านของการปรับปรุงหลักสูตร เพื่อสู่การนำไปใช้งานจริง
ดังนั้นที่ประชุม "บอร์ด สพฐ." มองว่าข้อมูลการกรปรับปรุงหลักสูตรที่อนุกรรมการฯ ชุดนี้นำมาเสนอนั้น มีความละเอียดดีมากจึงมีมติตั้งคณะทำงานบรรณาธิการขึ้น เพื่อมาทำหน้าที่ตรวจทานรายละเอียดการปรับปรุงหลักสูตรและชื่อการใช้หลักสูตรให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะไม่อยากสร้างความสับสนให้แก่สถานศึกษาที่นำไปใช้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการทำลองการใช้หลักสูตรฐานสรรถนะในกลุ่มโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมแล้ว หากไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรจะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1(ป.1) และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ป.4) ในปีการศึกษา 2567 ก่อน หลังจากนั้นจะขยับไปในชั้นอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้มีข้อเสนอจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ถึงการเรียนการสอนยุคโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเด็กนักเรียน และครอบครัวไทยไปอย่างสิ้นเชิง ทำอย่างไรการเรียนรู้ของเด็กๆภายใต้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ จะมีความต่อเนื่อง และไม่เป็นการผลักภาระให้พ่อแม่ผู้ปกครอง