"ททท." ชวนแต่งไทย เที่ยวงานวัด ช่วงเทศกาล "เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565"
"ททท." เปิดงานเทศกาล "เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565" ชูคอนเซปต์ "สงกรานต์วิถีใหม่ แต่งไทยเที่ยววัด" ชวนสัมผัสอัตลักษณ์ไทยผสานวิถีใหม่ ณ 10 พระอารามหลวง กรุงเทพฯ คาดเงินสะพัด1,800 ล้านบาท
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ “ททท.” เชิญชวนร่วมกิจกรรมเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565” ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2565 ณ พระอารามหลวง 10 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีใหม่ แต่งไทยเที่ยววัด” นำเสนอวัฒนธรรมวิถีไทยประเพณีสงกรานต์ผสานความทันสมัย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยถึงการจัดงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ในปีนี้ว่า "ททท." สืบสานและอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์มาอย่างต่อเนื่อง และภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 "ททท." ได้พิจารณาปรับแผนการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ให้สอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุข
โดยกำหนดจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์วิถีใหม่ แต่งไทยเที่ยววัด” เคร่งครัดมาตรการ COVID Free Setting มุ่งนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านคุณค่าของวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมอันดีงามของคนไทย เช่น รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร รวมถึงการแสดงเชิงวัฒนธรรม อาทิ โขน และดนตรีร่วมสมัย
ทั้งจัดสรรโซนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและอาหารท้องถิ่นที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ หรือ New Normal เพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ควบคู่กับการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและส่งมอบความสุขรับปีใหม่ไทย พร้อมเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวมุมมองใหม่ที่มีคุณค่า แตกต่าง และน่าประทับใจ ในปีท่องเที่ยวไทย 2565 หรือ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters นี้
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร "ททท." กำหนดจัดกิจกรรม “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์”ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น. ณ พระอารามหลวง 10 แห่ง ซึ่งพิธีเปิดงานเทศกาลฯ มีขึ้นในวันที่ 13 เมษายน 2565 เวลา 09.00 น. ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร โดยได้รับเกียรติจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธี สัมผัสกลิ่นอายของเทศกาลสงกรานต์ด้วยขบวนแห่ทางวัฒนธรรม นำโดยนักแสดงสังกัด ช่อง 7HD นาว-ทิสานาฏ ศรศึก พร้อมด้วยนางสงกรานต์ และพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปและพิธีรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสตามประเพณีไทย
ทั้งนี้ การจัดงานเทศกาลฯ แบ่งเป็น 2 กิจกรรมหลัก เพื่อให้นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางตามความสนใจ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีอัตลักษณ์และรายละเอียดกิจกรรมที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
กิจกรรมหลัก จัดขึ้นในพื้นที่พระอารามหลวง 2 แห่ง ได้แก่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดย "ททท." เนรมิตบรรยากาศปีใหม่ไทย เติมความสุขประทับใจกับสงกรานต์วิถีใหม่ ผ่านกิจกรรมการสรงน้ำพระเสริมมงคลมหาสงกรานต์ (วันที่ 9-17 เมษายน 2565) พร้อมเพลิดเพลินการแสดงทางวัฒนธรรม (วันที่ 13-15 เมษายน 2565) เช่น โขน ลำตัด หุ่นละครเล็ก และการแสดงร่วมสมัย พร้อมร่วมสนุกวิถีไทยกับ AR Activity “สวัสดีปีใหม่ไทย สุขใจมหาสงกรานต์” กับน้องสุขใจ เล่นเกม E-Stamp และถ่ายภาพกับแลนด์มาร์ก พิเศษสุดๆ
หากนักท่องเที่ยวถ่ายภาพครบทั้ง 10 แห่ง จะได้รับของที่ระลึกจาก ททท. โดยส่งหลักฐานผ่าน Line Official : TATSONGKRANTEMPLE จำกัด 1 รายชื่อ 1 สิทธิ์ ตลอดระยะเวลาจัดงาน จากนั้นอิ่มอร่อยรับปีใหม่ไทยในโซนบูธร้านอาหารขึ้นชื่อของชุมชนต่าง ๆ และเลือกชมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การสาธิตมรดกภูมิปัญญาไทยและกิจกรรม DIY เช่น สาธิตการทำขนมไทย การแกะสลัก เกิดเป็นผลงานหนึ่งเดียวไม่ซ้ำใคร
ขณะที่พระอารามหลวงอีก 8 แห่ง ได้แก่ วัดอรุณราชวราราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดราชนัดดาวรวิหาร และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร "ททท." แต่งเติมบรรยากาศความสุขเทศกาลสงกรานต์วิถีใหม่แบบไทยๆ ระหว่างวันที่ 9–17 เมษายน 2565 เวลา 09.00–18.00 น. จัดกิจกรรมสรงน้ำพระเสริมมงคล เช็กอินจุดถ่ายภาพแลนด์มาร์กของแต่ละพื้นที่ และร่วมสนุกไปกับ AR Activity
นอกจากนี้ "ททท." ตระหนักถึงความปลอดภัยและพร้อมส่งมอบประสบการณ์สงกรานต์ที่ปลอดภัยด้วยมาตรฐานสาธารณสุข โดยกำหนดให้ผู้ร่วมงานต้องเข้ารับการคัดกรองอุณหภูมิ และดำเนินมาตรการการจัดกิจกรรมสงกรานต์ตามมติประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 กำกับกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์อย่างเคร่งครัด ขอให้งดการสาดน้ำ ประแป้ง รวมถึงห้ามดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้เข้าชมงานมีความมั่นใจด้านความปลอดภัยมากขึ้น เช่น เว้นระยะห่างในการรับชมการแสดง บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ กำหนดโซนรับประทานอาหาร (เปิดหน้ากาก) จัดเตรียมน้ำบรรจุในขวดสำหรับสรงน้ำพระ เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสร่วม เป็นต้น
ทั้งนี้ ททท. คาดว่าเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ในพื้นที่ไฮไลท์กรุงเทพมหานครตลอดระยะเวลาจัดงาน จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวอยู่ที่ 458,907 คน-ครั้ง และสร้างรายได้ 1,800 ล้านบาท