ไม่ง่าย กว่าจะได้ "ทุเรียน" คุณภาพดี ขั้นตอนสุดท้ายนี้ก็สำคัญ
ผู้ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้ และได้รับการฝึกฝนจนมี "ความรู้" ความชำนาญ จากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์โดยตรง
การที่จะได้ทุเรียนคุณภาพ นอกจากการดูแลต้นพันธุ์แล้ว การตัดทุเรียน ก็เป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้ได้ทุเรียนดี ก่อนถึงมือผู้บริโภค วันนี้ ( 18 เม.ย. 65) ที่หอประชุม อำเภอท่าใหม่ นายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธาน เปิดโครงการฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพนักตัดทุเรียน ปี 2565 รุ่นที่ 1 จังหวัดจันทบุรี เป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของประเทศ
โดยเฉพาะทุเรียน มีเนื้อที่ปลูกทั้งหมด 286,544 ไร่ มีเนื้อที่ให้ผลผลิต 211,152 ไร่ มีปริมาณผลผลิต รวม 508,876 ตัน ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม
ทั้งนี้ การตัดทุเรียนแก่ที่มีคุณภาพดี ปราศจากโรคและแมลงเพื่อการส่งออก ต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ในแปลงปลูก และตรวจสอบคุณภาพทุเรียนภายในโรงคัดบรรจุ ผู้ที่จะเป็นนักตัดทุเรียนมืออาชีพ จะต้องมีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญในการตัดทุเรียนแก่คุณภาพดี ได้ตั้งแต่ในแปลงปลูกที่มีสภาพแวดล้อม และการจัดการที่แตกต่างกัน สามารถคัดแยก และตรวจสอบทุเรียนคุณภาพได้อย่างถูกต้องและแม่นยำในโรงคัดบรรจุ
ผู้ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้ และได้รับการฝึกฝนจนมีความรู้ความชำนาญ จากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์โดยตรงจึงจะเป็นนักตัดทุเรียนมืออาชีพได้ซึ่งจังหวัดจันทบุรีได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา ผู้ประกอบอาชีพตัดทุเรียน โดยสนับสนุนเงินงบประมาณให้ดำเนินการจัดโครงการฝึกอบรม มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบอาชีพตัดทุเรียนสามารถในการตัด-คัดแยกทุเรียนอ่อนแก่ เพื่อการส่งออกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ของผู้เข้ารับการฝึกอบรม สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมของตนเองได้
ในการฝึกอบรมิแบ่งเป็น 5 รุ่น ๆ ละ 1 วัน มีการบรรยายให้ความรู้เรื่องเทคนิคการตัดและคัดทุเรียนแบบมืออาชีพ โดยได้รับเกียรติจากคุณพิรเพลิน ทับที่สุด เกษตรกรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านทุเรียน และการบรรยายเรื่อง การทดสอบวิเคราะห์หาร้อยละน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน การป้องกันเชื้อโควิด 19 ในโรงคัดบรรจุ และการป้องกันเชื้อโควิด-19 ในสวนผลไม้โดยได้รับสนับสนุนวิทยากรจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี
ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากอำเภอท่ใหม่ ในการสนับสนุนสถานที่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดฝึกอบรมผู้เข้ารับการอบรมรุ่นที่ 1 มีจำนวนทั้งสิ้น 119 ราย โดยเป็นชาวสวนและผู้ทำงานในโรงคัดบรรจุ ซึ่งภายหลังจากฝึกอบรมฯ เสร็จสิ้น สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี จะได้จัดทำฐานข้อมูลผู้ผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้ และดำเนินการพัฒนาต่อยอดในหลักสูตรที่มีความเข้มข้น และออกบัตรประจำตัวนักตัดทุเรียนให้ในโอกาสต่อไป
ณฐพล ศิริวงษ์ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.จันทบุรี