จุกอก "ธุรการโรงเรียน" มนุษย์ขายแรงงานตัวเล็กๆต้องแบก "สัญญาทาส" เอาไว้
มนุษย์ขายแรงงานระดับกระทรวง รู้ไหม วิถี "ธุรการโรงเรียน" ทำงาน 365 วัน ป่วยไม่ได้ ลาไม่ได้ ออกไม่ได้ ตายก็ยังต้องจ่ายค่าปรับ
ค้าแรงงานงาน แต่ไม่เข้าเกณฑ์สิทธิประโยชน์ใดๆที่พึงจะได้รับ "ธุรการโรงเรียน" คนตัวเล็กๆ ถูกซุกซ่อนเอาไว้อยูู่่ในอีกมุมอับแสงของสังคมการศึกษา ไม่มีปาก ไม่มีเเสียง แต่ทำงานทุกอย่างตามนายสั่งตาม "สัญญาทาส"
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งหนึ่ง ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีหนังสือราชการถึงโรงเรียนในสังกัด เรื่อง การแจ้งเรียกค่าปรับจากการผิดสัญญาการจ้างเหมาบริการธุรการโรงเรียน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 รายการค่าจ้างเหมาธุรการโรงเรียน ค่าจ้าง 9,000 บาท/เดือน
โดยอ้างอำนาจตาม พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
อาศัยอำนาจตาม ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าด้วยการบริหารจัดการเกี่ยวกับเงินรายได้ สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.2549 ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าด้วยหลักเกณฑ์ อัตรา และวิธีการนำเงินรายได้สถานศึกษาไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็น นิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.2551
คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 1341/2560 สั่ง ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2560 เรื่อง มอบอำนาจเกี่ยวกับเงินรายได้สถานศึกษา
ก่อนหน้าโรงเรียนในสังกัด ดังกล่าว ได้ตกลงจ้างบุคคลภายนอกรายหนึ่ง ให้ปฏิบัติงาน “ธุรการโรงเรียน” กำหนดระยะเวลา 12 เดือน เป็นเงิน จำนวน 108,000 บาท โดยแบ่งจ่ายเงินเป็น 12 งวด และโรงเรียนได้อนุญาตให้ผู้รับจ้างลาออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564
จากนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้ความว่า ตามที่โรงเรียนได้ตกลงจ้างบุคคลดังกล่าว ให้ปฏิบัติงาน "ธุรการโรงเรียน" ตาม พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น จึงถือได้ว่า บุคคลดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง เมื่อไม่สามารถปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จตามหนังสือข้อตกลงจ้างของโรงเรียนได้ จึงขอให้โรงเรียน แจ้งเรียกค่าปรับ จากการผิดสัญญา หรือ ข้อตกลง จากผู้รับจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 อย่างน้อยวันละ 100 บาท
ว่ากันว่า เงินค่าปรับจากการผิดสัญญาดังกล่าวถือเป็นเงินรายได้สถานศึกษา เมื่อโรงเรียนได้รับเงินแล้วให้ออกใบเสร็จรับเงิน และนำไปใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)
ในส่วนของรายละเอียดของเอกสารที่ทางโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอ้างว่าเป็นสัญญาจ้าง มีรายละเอียดดังนี้
ที่ 1/2564 ชื่อหน่วยงานผู้ว่าจ้าง (โรงเรียน) เรื่อง จ้างเหมาผู้ปฏิบัติงานธุรการโรงเรียน เรียน ................(ชื่อผู้รับจ้าง)......................... สิ่งที่ส่งมาด้วย ขอบเขตของงาน
ตามใบเสนอราคาที่อ้างถึง ได้เสนอราคา จ้างเหมาผู้ปฏิบัติงาน ธุรการโรงเรียน โดยวิธีเฉพาะเจาะจง เป็นเงินทั้งสิ้น 108,000 บาท (หนึ่งแสนแปดพันบาทถ้วน) ซึ่งเป็นราคา ที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าใช้จ่ายทั้งปวงไว้ด้วยแล้ว ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
โรงเรียน ......(ผู้ว่าจ้าง) ................พิจารณาแล้ว ตกลงจ้างเหมา ผู้ปฏิบัติงานธุรการ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ตามรายละเอียดที่ได้เสนอไว้ข้างต้น เป็นเงินทั้งสิ้น 108,000 บาท (หนึ่งแสนแปดพันบาทถ้วน) โดยแบ่งจ่ายเป็น 12 งวด (ตามรายละเอียดแนบท้าย) มีระยะเวลารับประกัน 1 ปี นับถัดจาก วันที่ โรงเรียน……….ผู้ว่าจ้าง)............ รับมอบ และขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 365 วัน นับถัด จากวันที่ได้รับ
หนังสือสั่งจ้างฉบับนี้ หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนด จะต้องชำระค่าปรับเป็นรายวันในอัตราวันละ 100 บาท (หนึ่งร้อยบาทถ้วน) นับถัดจากครบกำหนดจนถึงวันที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และส่งมอบงานให้ "โรงเรียน" แล้วเท่านั้น
ด้านล่างลงนามโดย ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็นผู้ว่าจ้าง และติดอากรแสตมป์ จำนวน 120 บาท
จากข้อความข้างต้น จะเห็นได้ว่า ผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานทั้งหมด 365 วันตลอดทั้งปี ไม่มีวันหยุด แม้แต่ วันหยุดเสาร์- อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์หรือวันสำคัญต่างๆ ห่างวันใดป่วยหรือมีธุระส่วนตัวไม่สามารถมาทำงานได้ ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 100 บาท ให้กับ "ผู้ว่าจ้าง" ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม
หรือหากต้องการ "ลาออก" ก็ต้องจ่ายค่าปรับวันละ 100 บาท ไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญา สมมุติว่า ไม่สามารถทำงานได้เลยก็ต้องจ่ายว่าปรับตามสัญญา เป็นเงิน 36,500 บาท (สามหมื่นหกพันห้าร้อยบาทถ้วน) และจะไม่มีรายรับจากราชการแม้แต่บาทเดียว
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จ่ายจริง ที่โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยการอ้างระเบียบที่ไร้ความปราณี ใช้กฎหมายโดยขาดมนุษยธรรม กระทำกับ "ธุรการโรงเรียน" ตัวเล็กๆ ผู้ที่ไม่มีทางสู้ได้เลย
ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ทราบเรื่องนี้หรือไม่ หากรับรู้แล้ว มีแนวทางที่จะแก้ไข “สัญญาทาส” นี้อย่างไร การหาประโยชน์กับคนตัวเล็กๆ ที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้ในสังคมการศึกษา บุคลที่ไม่มีทางสู้เพื่อแลกกับค่าแรงแสนถูก เทียบเท่ากับการค้ามนุษย์
หรือว่า “ครูเหน่ง” ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะปล่อยให้มีการใช้แรงงาน "ธุรการโรงเรียน" ในกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นกระทรวงแห่งปัญญาสร้างคน สร้างชาติ เช่นนั้นหรือ?