ข่าว

"อัมพร" แจงบอร์ดกพฐ.7 เม.ย.65 ยังไม่มีมติให้ใช้ "หลักสูตรฐานสมรรถนะ"

"อัมพร" แจงบอร์ดกพฐ.7 เม.ย.65 ยังไม่มีมติให้ใช้ "หลักสูตรฐานสมรรถนะ"

20 เม.ย. 2565

เลขาธิการ กพฐ. ชี้แจงแล้วบอร์ดกพฐ. ไม่มีมติให้ใช้ "หลักสูตรฐานสมรรถนะ" ส่วน Active Learning คือของเดิม เพียงแต่ "ครู" ปรับวิธีการสอนเท่านั้น

ทิ้งทวนก่อนหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีการประชุม "บอร์ดกพฐ." และมีการพูดถึงเตรียมจะใช้ "หลักสูตรฐานสมรรถนะ" และมีการนำร่องในเขตพื้นที่นวัตกรรมไปบ้างแล้วนั้น ล่าสุดมีความชัดเจนจากฝ่ายปฏิบัติอย่าง "อัมพร" เลขาธิการ กพฐ. แล้ว

 

วันที่ 20 เม.ย. 2565 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการกพฐ.)ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประจำกระทรวงศึกษาธิการ ระบุ ถึงการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ว่า ในการประชุมบอร์ดกพฐ.ที่มีศ.นพ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 7 เมษายน  2565 นั้น ที่ประชุมยังไม่ได้มีมติเห็นชอบการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 หรือ "หลักสูตรฐานสมรรถนะ" 

"แต่ที่ประชุม บอร์ดกพฐ. ได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะทำงานบรรณาธิการกิจร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ…หรือ "หลักสูตรฐานสมรรถนะ" ขึ้น เนื่องจากอนุกรรมการด้านคุณภาพและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ที่มีสำนักวิชาการและมาตฐานการศึกษาเป็นผู้ร่วมนำเสนอนั้นที่ประชุมมองว่า กรอบแนวทางการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่อนุกรรมการฯชุดดังกล่าวนำเสนอมีความครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่หลักการ วิสัยทัศน์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ และสมรรถนะทั้ง 6 ด้านของการปรับปรุงหลักสูตร เพื่อสู่การนำไปใช้งานจริง"เลขาธิการ กพฐ.แจกแจง

เลขาธิการ กพฐ. อธิบายอีกว่า การปรับปรุงหลักสูตรเราต้องแยกให้ชัดเจนก่อน เพราะขณะนี้เรามีหลักสูตรแกนกลางการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่เป็นฉบับปรับปรุงพ.ศ.2561 ที่เน้นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำ ซึ่งก็คือรูปแบบการจัดการเรียนการสอนตาม "หลักสูตรฐานสมรรถนะ" อยู่แล้ว 

 

"ส่วนการปรับปรุง "หลักสูตรฐานสมรรถนะ" ขณะนี้มีการนำร่องทดลองใช้ในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมอยู่ อีกทั้งมีกลไกกระบวนการของการปรับปรุงอีกหลายขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ การทดลองใช้หลักสูตรในโรงเรียนทั่วไป และการพัฒนาครูผู้สอน ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมอีกหลายขั้นตอน รวมถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหลักสูตรอีกหลายชุด ก่อนที่จะประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะจริงอย่างเป็นทางการต่อไป”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเสียงท้วงติงจากภาคประชาชนว่า การปรับหลักสูตรแต่ละครั้ง ทำไมไม่ทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่า หลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำไมยังมีเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ขณะที่หลักสูตรเดิมเด็กไทยไม่มีปัญหาในเรื่องนี้