"8 ปีการศึกษาไทย" มีแต่ถดถอย "อรุณี" ร้องนายกฯ ป้อง "dek65"
ผลสอบ GAT/PAT เด็กยุคโควิด ปี2565 ต่ำกว่าเกณฑ์ "อรุณี" ออกโรงป้อง "dek65" เรียกร้อง นายกฯ สั่งการ กระทรวง อว.และ ทปอ. เปิดวิธีเฉลยข้อสอบ GAT หวั่นเด็กและเยาวชน หมดศรัทธาการศึกษาไทย
ไม่เกินความคาดหมายเด็กไทยยุคโควิด หรือ "dek65" ที่ส่วนใหญ่เรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ไม่มีโอกาสได้เข้าห้องเรียนได้พบครูผู้สอน หรือลงมือปฏิบัติห้องแล็ปทิพย์ เมื่อทปอ.ประกาศผลสอบGAT/PAT จึงเป็นไปตามที่คาดหมาย ล่าสุดมีความเคลื่อนจาก "ดร.อรุณี กาสยานนท์" ที่เกาะติดเรื่องนี้มาต่อเนื่อง
ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ประกาศผลสอบและความถี่ของช่วงคะแนนสอบรายวิชาต่างๆ เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า คะแนน ในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียนสอบ GAT ได้คะแนน 270 ขึ้นไป จากคะแนนเต็ม 300 คะแนน เพียงแค่ 15 คน ซึ่งแตกต่างจากปีการศึกษา 2564 ที่ได้คะแนนเกิน 270 คะแนน ที่ 2,541 คน
“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นักเรียนในปีการศึกษานี้ (#dek65) ตั้งคำถามถึงเกณฑ์การออกข้อสอบ และมาตรฐานในการตรวจข้อสอบของ ทปอ.เป็นอย่างมาก แม้ ทปอ.จะเปิดให้นักเรียนยื่นคำร้องให้ทบทวนผลสอบได้ตั้งแต่ 21-28 เมษายน 2565 แต่เป็นเพียงการยื่นคำร้องให้ตรวจดูคำตอบกับเฉลยเท่านั้น ไม่ได้เปิดให้ดูโจทย์และวิธีคิดคำตอบ และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการยื่นคำร้อง 100-300 บาท ซึ่งถือว่าเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้เด็ก”
จึงอยากเรียกร้องให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และ ทปอ.เร่งดำเนินการดังนี้
1. เปิดวิธีคิดและการหาคำตอบของข้อสอบอย่างเปิดเผยผ่านเว็ปไซต์กลาง ให้เด็กนักเรียนสามารถตรวจสอบวิธีการหาคำตอบนั้นได้อย่างกว้างขวาง เด็กจะได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ไม่ควรปิดกั้นการเข้าถึงการได้มาของคำตอบในข้อสอบนั้น ๆ
2.ทปอ.ไม่ควรเรียกเก็บเงินในการยื่นคำร้องขอดูคะแนนสอบและเฉลยในทุกกรณี เพราะเด็กเสียเงินค่าสมัครสอบเป็นรายวิชาให้กับ ทปอ.ไปก่อนหน้าแล้ว ดังนั้นหากเกิดความเคลือบแคลงสงสัย ทปอ.ก็ควรรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เด็กเกิดคำถามต่อระบบการออกข้อสอบ การเฉลยคำตอบ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อระบบความเชื่อมั่นในการสอบเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในปีต่อไป
3.กระทรวง อว.และ ทปอ. ต้องถือเป็นบทเรียน คือมาตรฐานการออกข้อสอบต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่นักเรียนเรียนออนไลน์เกือบ 100% การออกข้อสอบเพียงแต่มุ่งหวังความเป็นเลิศทางวิชาการ จะยิ่งผลักให้เด็กกลุ่มที่มีฐานะยากจนให้ขาดโอกาสในการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพราะไม่สามารถแข่งขันได้ ไม่มีเงินจ่ายค่าติวเตอร์ ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน ขาดแคลนอินเทอร์เน็ต
ดร.อรุณี กล่าวว่า ปัญหาของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทุกวันนี้คือ มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่เข้าใจและเห็นความสำคัญของการศึกษา มีรัฐมนตรีกระทรวง อว.และ ทปอ. ที่ไม่เคยตระหนักในปัญหาอย่างจริงจัง ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการฟ้องศาลเลื่อนสอบ หรือ ร้องเรียนไปยังกรรมาธิการการศึกษา เพื่อให้เด็กที่ติดโควิดต้องมีสิทธิเข้าสอบ แต่ ทปอ. และกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้รับฟัง แต่ไม่เคยปรับปรุง เพื่อนำไปพัฒนาหรืออุดรอยรั่วของปัญหาแต่อย่างใด จึงอยากให้ผู้ใหญ่ที่ฝันอยากฝากอนาคตของชาติไว้ที่เด็ก ก็ควรจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีทุกด้านให้กับเด็กด้วย
“พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปี การศึกษาไทยมีแต่ถดถอย ดังนั้นก่อนหมดอำนาจช่วยฝากผลงานไว้สักชิ้นให้เด็กจดจำในฐานะนายกรัฐมนตรี รีบสั่งการไปยังกระทรวง อว.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งดำเนินการตามข้อเสนอ ทำให้การศึกษาไทยเข้าถึงง่าย โปร่งใส และเป็นความหวังของเด็กไทย อย่าผลักภาระให้เด็ก แบบนี้ไม่แฟร์ค่ะ” ดร.อรุณี ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่สังเกตว่า ในระบบการศึกษาไทยภาระในการสอบเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยตาม "ระบบTCAS" ตกที่เด็กและพ่อแมผู้ปกครอง ตัวอย่างจากหากเด็กสอบจำนวนวิชาเพิ่มต้องจ่ายเงินเพิ่ม และหากต้องดูข้อสอบก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกในการยื่นคำร้อง 100-300 บาท ถามว่าเป็นธรรมกับเด็กหรือไม่