ข่าว

กฏเหล็ก "ปชป." รับคนเข้าพรรค ต้องไม่มีประวัติ "คุกคามทางเพศ"

กฏเหล็ก "ปชป." รับคนเข้าพรรค ต้องไม่มีประวัติ "คุกคามทางเพศ"

21 เม.ย. 2565

"ปชป." ประชุมกรรมการคัดกรองคนเข้าพรรคนัดแรก วางกรอบ ต้องมีความรู้ ความสามารถ และไม่มีประวัติ "คุกคามทางเพศ" พร้อมเตรียมเยียวยาเหยื่อ "ปริญญ์ พานิชภักดิ์” ยืนยันไม่แทรกแซงคดี

กระแส “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็นผู้ต้องหา "คุกคามทางเพศ" เล่นเอาพลพรรคซวนเซเสียขวัญและแทบหมดกำลังใจกับเส้นทางการเมืองในอนาคต ล่าสุด “ปชป.” สถาบันการเมืองเก่าแก่ร่วม 77 ปี มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

 

เมื่อวันที่ 21 เมษายน  2565 ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า วันนี้มีการการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์นัดแรก  หลังจากนายปริญญ์ พาณิชย์ภักดี อดีตรองหัวหน้าพรรค ตกเป็นผู้ต่องหาคดี "คุกคามทางเพศ" 

 

“วันนี้เป็นการหารือเพื่อวางกรอบแนวทางการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ต้องมีความเหมาะสม ทั้งความสามารถในการทำงานและความประพฤติ ยอมรับว่าก่อนหน้ามีความหละหลวม จึงต้องหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก”ผศ.ดร.รัชดา ระบุ

อีกประเด็นคือ การพูดคุยถึงแนวทางช่วยเหลือผู้เสียหาย จากคดีของนายปริญญ์ เพื่อแสดงน้ำใจและความรับผิดชอบ รวมถึงสิ่งที่พรรคจะช่วยได้ นอกจากการช่วยเหลือด้านกฎหมาย การดูแลในมิติต่างๆ เพื่อรับผิดชอบในส่วนของพรรคให้ดีที่สุด และหากคณะกรรมการมองว่ามีสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมก็จะทำร่วมกัน

 

ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการเชื่อว่า สามารถคุยกันได้ในวันนี้เลย แต่จะได้ข้อสรุปหรือไม่ต้องดูในรายละเอียด เช่น หลักเกณฑ์ในการสรรหา ว่าจะทำอย่างไรให้มีมิติในการพิจารณาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศด้วย แต่จะต้องเป็นข้อเสนอที่ปฏิบัติได้จริง พร้อมยอมรับว่าบางเรื่องพิสูจน์ได้ยาก เช่น พฤติกรรมระหว่างอยู่กับผู้หญิง แต่หากเป็นในส่วนของประวัติอาชญากรรม สามารถสืบค้นคัดกรองได้

ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้คือคณะกรรมการชุดนี้ มีทั้งคนในพรรคและคนภายนอก ซึ่งหากดูรายชื่อก็เห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการต่อต้านการ “คุกคามทางเพศ” และการส่งเสริมบทบาทสตรีมาอย่างยาวนาน หลายคนแอคทีฟในเรื่องของนายปริญญ์อยู่แล้ว

 

"จึงอยากให้ประชาชนสบายใจได้ว่าจะไม่มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพราะ "ปชป." มีความเข้าใจ ว่ากรณีนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์แต่ในสภาพความเป็นจริง "การคุกคามทางเพศ" การใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ไม่ได้เกิดจากพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นแต่เป็นปัญหาของสังคม ซึ่งคาดหวังว่าข้อเสนอแนะและข้อสรุปจากกรรมการชุดนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานอื่นนำไปปรับใช้ได้

 

ส่วนกรณีนายษิทธา เบี้ยบังเกิด ทนายความอ้างว่า ตำรวจยศพลตำรวจตรีเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ผศ.ดร.รัชดา ระบุว่าเรื่องนี้เป็นคำกล่าวของนายษิทธา แต่จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์คือจะไม่แทรกแซง 

 

“มาถึงจุดนี้เราเจ็บ เราเสียหาย ประชาชนศรัทธาน้อยลง เราก็ออกมายอมรับว่าเป็นความผิดส่วนตัว แต่พรรคไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ และวันนี้พรรคมีความตั้งใจอยากแก้ไขอยากแสดงความจริงใจ ว่าจุดยืนของพรรคต่อต้านการคุกคามทางเพศ อะไรที่ทำให้ดีขึ้นได้ และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำก็จะทำ ส่วนคนอื่นจะตั้งข้อสังเกตอย่างไร ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของคนอื่นส่วนสิ่งที่พรรคจะทำก็จะดำเนินการต่อไป”ผศ.ดร.รัชดา กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น

 

ผศ.ดร.รัชดา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียหายเข้ามาขอความช่วยเหลือจากคณะทำงานของพรรค แต่มีคณะกรรมการหลายคนเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนและต่อต้านการคุกคามทางเพศ หากพรรคทำอะไรที่เป็นการแทรกแซงเชื่อว่าคณะกรรมการเหล่านี้ไม่ปล่อยไว้แน่นอน การที่ตนไปเชิญคนเหล่านี้มาร่วมคณะทำงาน เป็นการพิสูจน์ว่าพรรคไม่ได้กลัวการตรวจสอบหรือกลังภาคประชาสังคม พร้อมจะทำงานไปด้วยกัน และการที่คณะกรรมการทั้ง 4 ตอบรับคำเชิญเพราะที่ผ่านมาพรรคร่วมงานจนเป็นที่ไว้วางใจ แม้เกิดปัญหาในพรรคก็พร้อม ร่วมมือเพราะรู้ว่าเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลแต่วันนี้จะมาช่วยกันทำระบบให้ดีขึ้น