มช. เปิด"พิพิธภัณฑ์กายวิภาคทางสัตวแพทย์" ผลักดันการเรียนรู้นอกห้องเรียน
"พิพิธภัณฑ์กายวิภาคและพยาธิวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์" จัดแสดงโครงกระดูกและอวัยวะของสัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
การเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่มากกว่าความรู้ในตำรา หน่วยงานและองค์กรการเรียนรู้ต่างๆ ในประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อปรับใช้และส่งเสริมให้ผู้คนที่สนใจได้ศึกษา เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้จัด "พิพิธภัณฑ์กายวิภาคและพยาธิวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์" (Veterinary Anatomy and Pathology Museum) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการศึกษาทางกายวิภาคศาสตร์อันเป็นองค์ความรู้พื้นฐานของวิทยาศาสตร์ชีวภาพหลายสาขา ทางด้านสรีรวิทยา ชีววิทยาการแพทย์ หรือแม้แต่ทางด้านของพฤติกรรมและวิวัฒนาการของสัตว์ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน บุคคลทั่วไปได้เข้าชม
"พิพิธภัณฑ์กายวิภาคและพยาธิวิทยาทางสัตวแพทย์" แต่เดิมเป็นเพียงห้องที่ใช้สำหรับเก็บรักษาตัวอย่างทางกายวิภาค มีการจัดแสดงเฉพาะโครงกระดูกสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ได้รับบริจาคจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของคณาจารย์ สาขาพรีคลินิกทางสัตวแพทย์ ภาควิชาชีวศาสตร์ทางสัตวแพทย์และสัตวแพทย์สาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสาขาวิชานี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 ณ ขณะนั้นขาดแคลนตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอน ทำให้เกิดการรวบรวมตัวอย่างมาอยู่ในห้องแห่งนี้ ต่อมาเมื่อมีจำนวนตัวอย่างเพิ่มมากขึ้น จึงมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเคลื่อนย้ายตัวอย่างเสมอ การเข้าชมเพื่อศึกษาจึงเป็นไปได้ยาก
ในปี พ.ศ. 2560 จึงมีโครงการปรับปรุงใหม่ ภายใต้ชื่อ “พิพิธภัณฑ์กายวิภาคและพยาธิวิทยาทางสัตวแพทย์” เพื่อใช้สำหรับจัดแสดงตัวอย่างทางกายวิภาคและพยาธิวิทยา ให้มีความเหมาะสมแก่การใช้งานมากขึ้น และได้เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งพิพิธภัณฑ์กายวิภาคและพยาธิวิทยาทางสัตวแพทย์ ได้จัดแสดงโครงกระดูกและอวัยวะของสัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งสัตว์ในประเทศไทยและต่างประเทศ เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.30 น. – 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
นอกจากนี้ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้มีการรับบริจาคร่างของสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาจารย์ใหญ่ให้แก่นักศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน เป็นสัตว์เลี้ยงและสัตว์อื่นๆ เช่น สุนัข แมว ม้า กระต่ายเสือ สุกร เป็นต้น โดยได้รับจากหลากหลายแหล่งที่มา ทั้ง โรงพยาบาลสัตว์เล็ก โรงพยาบาลสัตว์เมตตา โรงพยาบาลสัตว์บ้านหมอรักสัตว์ สถานบริการสุขภาพสัตว์อื่นๆ และสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของบริจาคเอง ซึ่งในปีที่เริ่มต้นมีเพียงสุนัขและแมว จำนวน 50 ตัวเท่านั้น แต่ด้วยความร่วมมือและความมีใจอุทิศแก่การศึกษาของ ผู้บริจาคทำให้มีอาจารย์ใหญ่ที่ร่วมเดินทางกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มากกว่า 1,300 ตัวแล้ว นับว่าเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้กับโลกแห่งการศึกษาได้อย่างไม่รู้จบ