ข่าว

"ครู" ก็คน "อาชีพครู" มีค่าจ้างเดือดร้อนอะไรกับ "ครูใส่ชุดว่ายน้ำ"

"ครู" ก็คน "อาชีพครู" มีค่าจ้างเดือดร้อนอะไรกับ "ครูใส่ชุดว่ายน้ำ"

24 เม.ย. 2565

"ครูใส่ชุดว่ายน้ำ" ถ้าจะเดือดร้อนกับเรื่องแบบนี้ ควรมีคำถามกับ "ครู" ไม่สอนหนังสือมากกว่ามั๊ย "การศึกษา" บ้านเราคงพัฒนาไปนานแล้ว

เครื่องแบบ จรรยาบรรณ อาชีพ หน้าที่ เป็นการแสดงออกเพื่อแยกแยะคนจากภายนอก เท่านั้น 

 

การที่เราจะให้ความเคารพใคร ไม่จำเป็นว่า เขาจะต้องเป็นใคร มีตำแหน่งอะไร แต่ให้ดูที่การกระทำ คนบางคนแค่มีตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะควรค่าแก่การเคารพ

 

ถ้า “ครู” ทำไม่ดี ไม่สอนหนังสือ จะแต่งตัวสวยงามถูกระเบียบแค่ไหน ก็เป็น “ครู” ได้แค่เปลือกนอก

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ “ครู” ควรเป็นการตั้งใจสอน ไม่ใช่กำหนดไว้แต่ว่า ครูต้องเป็นคนดีตลอดเวลา ต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ต้องเสียสละ ไม่มีวันหยุด ไม่ค่าล่วงเวลา ไม่มีปิดเทอม

เรามักจะถูกห้ามพูดถึง “ครู” ในทางที่ไม่ดี เพราะ “ครู” เป็นคนที่เราต้องให้เคารพ เป็นผู้พระคุณ แต่ในโลกของความจริงมันไม่ใช่

 

การที่จะให้ความเคารพใครต้องเกิดจากใจ ไม่ใช่เพราะถูกสั่งกันมา การที่ห้ามพูดถึง “ครู” ในทางที่ไม่ดี ถ้าครูไม่ดีจริง ๆ ก็เหมือนถูกโอบอุ้ม จากค่านิยมเหล่านี้ ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะห้ามพูดถึง เพราะครูเป็นคนดีตลอดเวลา

 

แต่ที่จริงแล้ว ครูก็แค่คนธรรมดา มีด้านที่ดี และไม่ดี สลับกันไป

 

ประเด็นการตั้งคำถามกับ "ครู" เรื่อง การใส่ชุดว่ายน้ำ ในมุมของผู้เขียนมองว่า ถ้าจะเดือดร้อนกับเรื่องแบบนี้ ควรมีคำถามกับครูไม่สอนหนังสือมากกว่า การศึกษาบ้านเราคงพัฒนาไปนานแล้ว

มีหลายประเด็นที่ควรจะพูดถึง เช่น ครูสอนเก่งทำไมต้องเปิดสอนพิเศษ แล้วเหล่า"ติวเตอร์" ทั้งหลายเป็นครูหรือไม่ พวกเขาควรมีจรรยาบรรณหรือไม่ เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบมากกว่า “ครูใส่ชุดว่ายน้ำ” เสียอีก

 

ท่านผู้มีอำนาจทราบไหมว่า พฤติกรรมเหล่านี้มีอยู่จริง “ไม่สอนหนังสือถึงเวลาปล่อยเด็กเล่น สั่งงาน โดยไม่สอน ถึงเวลามองหน้าให้เกรด ควรเดือดร้อนกับครูแบบนี้ มากกว่าการเดือดร้อน เรื่อง การแต่งตัวของครู ระบบการศึกษาไทยจะเจริญได้อย่างไร เมื่อเราให้ความสำคัญกับ “เปลือก” มากกว่า “เนื้อใน”

 

ชีวิตจริง “ครู” ก็เป็นคนดี ไม่ได้ตลอดเวลา บางครั้ง "ครู" ก็ต้องเป็นอย่างอื่น ที่ควรจะเป็น ในสถานที่และเวลาที่เหมาะสม 

 

มายาคติที่ว่า “อาชีพครู” เป็นอาชีพที่มีสถานะอันสูงส่ง และเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องเชิดชูจากคนในสังคมเป็นอย่างมาก กลายเป็นวาทกรรมและความคาดหวังจากสังคม เช่น ครูผู้เสียสละ ครูคือเรือจ้าง หรือครูผู้เป็นพระคุณที่สาม 

 

เป็นวาทกรรม ที่กดทับครูเอาไว้ ให้ครูต้องเป็นมากกว่า “ผู้ให้ความรู้” สังคมจึงมองข้ามความเป็น “คน” ของครู และคาดหวังกับครูมากกว่าที่ควรจะเป็น 

 

แต่แท้จริงแล้ว “ครู” ก็คือ “คน” มีครอบครัว มีความรับผิดชอบ มีความรู้สึก เหนื่อย หิว ดีใจ เสียใจ เหมือนกับคนทั่วไป และ “ครู” ก็เป็นเพียงอาชีพที่รับจ้างให้ความรู้กับนักเรียน ที่เดิมมักเรียกกันว่า “เรือจ้าง” เมื่อผู้โดยสารถึงฝั่งก็จบงาน หลังจากนั้นเป็นเรื่องระหว่างบุคคล เป็นความผูกพันหลังส่งมอบงาน

 

สุดท้าย ขอบอกว่า “อาชีพครู” เป็นอาชีพที่มีค่าจ้างเงินเดือนเหมือนอาชีพอื่นทั่วไป หากไม่มีค่าตอบแทนเป็นค่าจ้างเงินเดือนแล้ว ยังคงมีความเป็นครูอยู่ นั้นแหละ คือ “ครูที่แท้จริง”