เวทีภาคเหนือคึกคัก นร.ลำปาง คว้าชัย เล่าเรื่อง "ภาษาไทยถิ่นเหนือ"
เวทีภาคเหนือคึกคัก ราชบัณฑิตยสภา ประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ในโครงการ รู้ รัก ภาษาไทย ประจำปี 2565 หวังปลุกเยาวชนร่วมกันอนุรักษ์ "ภาษาถิ่น" รากเหง้าวัฒนธรรมชาติไทยให้ยั่งยืน ผล นร.ลำปาง คว้าชัย
30 เม.ย.65 ที่ห้องธาราทอง บอลลูน โรงแรมเซนทารา ริเวอร์ไซด์ โฮเทล อําเภอเมือง จ.เชียงใหม่ สํานักงานราชบัณฑิตยสภา จัดประกวดเล่าเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้านอาหารหัวข้อ ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและ "ภาษาไทยถิ่น" ในโครงการ "รู้ รัก ภาษาไทย” สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม. 1-3) จาก โรงเรียนต่าง ๆ ในภาคเหนือ โดยมีนายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภาและคณะกรรมการแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมกิจกรรมและตัดสินผู้ชนะในรอบภาคเหนือ
นายศานติ ภักดีคำ
นายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงการจัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ด้วย "ภาษาไทยมาตรฐาน" และ"ภาษาไทยถิ่น" ในโครงการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ว่า หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาตามพ.ร.บ.ราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 ฉบับปัจจุบัน ระบุไว้ข้อหนึ่งว่ามีหน้าที่ ศึกษา อบรมและพัฒนา "ภาษาไทย" "ภาษาถิ่น" การอนุรักษ์ "ภาษาไทย"ไม่ให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม เสริมภาษาไทยให้ปรากฎเด่นชัดยิ่งขึ้น
โดยมุ่งเป้าไปที่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในระดับฐานรากและบุคลากรทางการศึกษาโดยฉพาะครูภาษาไทยและครูประวัติศาสตร์ ซึ่งจะต้องได้รับเพิ่มเติมองค์ความรู้ในสาขาเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ
และตาม พ.ร.บ. ราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีหน้าที่ข้อหนึ่งคือ จัดการศึกษาอบรมและพัฒนาทางวิชาการเกี่ยวกับภาษาไทย ภาษาไทยถิ่น สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จึงได้จัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ ท้องถิ่น ที่มา ภาษาวัฒนธรรม ด้วย "ภาษาไทยมาตรฐาน"และ "ภาษาไทยถิ่น” รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าว
สำหรับเยาวชนเข้าร่วมการประกวดแข่งขันปีนี้ เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น(ม.1-3) จากโรงเรียนต่าง ๆ ในแต่ละภาค โดยให้นักเรียนเล่าเรื่องด้วย "ภาษาถิ่น" ที่แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณี การละเล่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถานที่ หรือบุคคลสำคัญในท้องถิ่นของตนเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ไว้ ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมพื้นที่ถิ่น
(โรงเรียนที่อยู่ในภาคใต้ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคใต้, โรงเรียนที่อยู่ในภาคเหนือ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคเหนือ, โรงเรียนที่อยู่ในภาคอีสานเล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคอีสาน และโรงเรียนที่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยมาตรฐาน) โดยคณะกรรมการจะพิจารณาจากความสามารถในการใช้ภาษาถิ่น มีเนื้อหาที่ผู้ฟังประทับใจ และมีลีลาในการเล่าเรื่องได้อย่างเป็นธรรมชาติสมวัย
การประกวดแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบแรกสํานักงานราชบัณฑิตยสภา ได้คัดเลือกจากวีดิทัศน์ของแต่ละภาคให้เหลือภาคละ 10 คน รอบสุดท้ายผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกในแต่ละภาคต้องมาแสดงความสามารถในการใช้ "ภาษาถิ่น" ต่อหน้าคณะกรรมการ
สำหรับการประกวดแข่งขัน "เล่าเรื่องภาษาไทยถิ่น ภาคเหนือ" ในวันนี้ (30 เมษายน 2565) ซึ่งผลการตัดสินของคณะกรรมการ รางวัลชนะเลิศ ของภาคเหนือ ได้แก่ เด็กหญิงจิราภัทร รักสถาน โรงเรียนบ้านสบพลึง จังหวัดลำปาง รองชนะเลิศอันดับ1ได้แก่ เด็กหญิงชนิดาภา พงศ์วรินทร์ โรงเรียนพะเยาพิทยาคม จังหวัดพะเยา และรองชนะเลิศอันดับ2 ได้แก่ เด็กหญิงต้นอ้อ ลุงต่าโรงเรียนฝางชนูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ 1.นางสาวสิริยากร วรรณสมพร โรงเรียนนารีรัตน์ จังหวัดแพร่ 2.เด็กหญิงกิรณา ลี โรงเรียนบ้านเรียนกิรณา จังหวัดเชียงใหม่ 3.เด็กหญิงกัญญาณัฐ ทรงคำ โรงเรียนสันทรายวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ 4.เด็กชายปฏิภาณ สุขงาม โรงเรียนบ้านปาง จังหวัดลำพูน 5. นายอภิวิชญ์ พรมแจ้ โรงเรียนแม่จันวิทยาคม จังหวัดเชียงราย
6. เด็กหญิงจิดาภา กาหลง โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ จังหวัดเชียงใหม่และ 7.เด็กชายธนาธิป ตื้อจันตา รร.สันป่ายางวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่
เด็กหญิงจิราภัทร รักสถาน
เด็กหญิงจิราภัทร รักสถาน โรงเรียนบ้านสบพลึง จังหวัดลำปาง กล่าวถึงความรู้สึกการได้รับรางวัลในการประกวดแข่งขันครั้งนี้ โดยพูดในห้วข้อ ละอ่อนเจนใหม่ หัวใจคนเมือง ซึ่งเหตุผลที่เลือกหัวข้อนี้ก็เพราะว่าจะได้แตกหัวข้อไปได้หลายเรื่อง
เริ่มจากทำความเข้าใจสคริปก่อน ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านอู้คำเมืองทำให้ไม่มีปัญหาในการพูดเล่าเรื่องในหัวข้อที่เตรียมเอาไว้ ขอบคุณที่มีกิจกรรมนี้ขึ้นมา เฮาจะได้ประสบการณ์ดีมาก เจ้าของรางวัลชนะเลิศพูด "เล่าเรื่องภาษาไทยถิ่นเหนือ" เผย พร้อมเชิญชวนเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่มาอู้คำเมือง เป็นภาษาที่น่าฮักนะเจ้า
อาจารย์พวงรัตน์ สองเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนและคณะกรรมการด้านวิชาการ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดครั้งนี้ กล่าวว่า ในฐานะกรรมการตัดสินอยากจะกล่าวว่าจริง ๆ แล้วภาษาไทย มีความสำคัญเป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงของภาษา ไม่ว่าจะไทยถิ่นภาคเหนือ อีสาน กลางหรือใต้ ทุกภาษาไทยถิ่นมีความไพเราะ มีเสน่ห์ มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง การที่ราชบัณฑิตยสภาได้จัดการแข่งขันสืบเนื่องกันมาหลายปีแล้วก็เป็นการส่งเสริมสนับสนุนและรักษาภาษา
ไทยถิ่นให้คงอยู่และเป็นการปลูกฝังให้น้อง ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีความรัก ความภาคภูมิใจใน "ภาษาถิ่น" ของตัวเอง
ในการประกวดแข่งขันในครั้งนี้ มีความหวังอยากให้น้อง ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความภาคภูมิใจในภาษาท้องถิ่นบ้านเกิดของตัวเองพร้อมทั้งอนุรักษ์สืบสาน ให้อยู่มั่นคงตลอดไป
อาจารย์พวงรัตน์ ยังได้กล่าวถึง เกณฑ์การตัดสินรอบสุดท้ายในเวทีภาคเหนือ โดยระบุว่าเกณฑ์การตัดสินในวันนี้ คณะกรรมการจะพิจารณาการใช้"ภาษาไทยมาตรฐาน"และ "ภาษาไทยถิ่น" มีในส่วนของเนื้อหาที่มีความประทับใจในผู้ฟังแล้วก็สุดท้ายก็คือมีลีลาประกอบการพูดเล่าเรื่องที่เป็นธรรมชาติเหมาะสมกับวัย
ในส่วนของคณะกรรมการตัดสินจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ ส่วนหนึ่งก็จะมาจากผู้เชี่ยวชาญ "ภาษาไทยถิ่น" และอีกส่วนก็จะเป็นคณะกรรมการบริหารจากราชบัณฑิตยสภา ซึ่งในส่วนของผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยถิ่น ก็จะพิจารณาการใช้ภาษาไทยถิ่นแล้วก็ในเรื่องของเนื้องหา ลีลา ความประทับใจ น่ารักสมวัย
ขอชื่นชมน้อง ๆ ทุกคนมีความสามารถ จนผ่านเข้ามาในรอบนี้ได้ กรรมการตัดสินฯคนเดิมกล่าวชื่นชม
ทั้งนี้การประกวดดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี 2565 โดยจัดมาแล้วในภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา และจะจัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565 ที่โรงแรมกรุงศรี ริเวอร์ อยุธยา ตามลำดับ
ซึ่งนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ1 และรองชนะเลิศอันดับ2 ของแต่ละภาค จะเข้ารับรางวัลในงานวันภาษาไทยแห่งชาติของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาต่อไป
อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นไปตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด-19 และถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุ ม.ก.kurplus เชื่อมเครือข่ายทั้ง 4 ภูมิภาคและออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มด้วย