นักวิทย์ไขปริศนาภาพบันทึกได้ครั้งแรก โลมาโผล่เหนือน้ำคาบ อนาคอนดา ในปาก
นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำอธิบายหลังบันทึกภาพชวนฉงน โลมาแม่น้ำขึ้นมาอยู่เหนือน้ำนานกว่าปกติ แถมในปากของยังคาบอนาคอนดาเอาไว้ด้วย
นักวิทยาศาสตร์ในโบลิเวียบันทึกภาพแปลก โลมาแม่น้ำสองตัวโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ พร้อมกับอนาคอนดาเบนี อยู่ในปากของทั้งคู่ ในแม่น้ำ ตีคามูชี เมื่อสิงหาคม 2564 แต่เพิ่งเผยแพร่รายงานลงในวารสาร Ecology ฉบับเดือนเมษายน พร้อมคำอธิบายที่เป็นไปได้ถึงพฤติกรรมโลมาที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
โลมาแม่น้ำโบลีเวีย อยู่ในวงศ์เดียวกับโลมาแม่น้ำแอมะซอน อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำมาไดรา ซึ่งเป็นส่วนผืนป่าแอมะซอนที่อยู่ในโบลีเวีย นักวิทยาศาสตร์ยังมีความรู้ไม่มากนักเกี่ยวกับโลมาใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ เนื่องจากความขุ่นของน้ำ และพวกมันมักจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ใต้ผิวน้ำ ส่วนงูอนาคอนดาเบนี เป็นงูโบอาชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเดียวกับโลมาโบลีเวีย เมื่อโตเต็มวัยอาจมีความยาว 2 เมตร
ขณะทีมวิจัยลงเก็บข้อมูลภาคสนามเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว พบเห็นการปรากฎตัวเหนือผิวน้ำอย่างผิดปกติ และได้บันทึกภาพไว้จำนวนหนึ่งโดยไม่รู้ในตอนนั้นว่า มีอนาคอนดาอยู่ในรูปด้วย เมื่อวิเคราะห์จากกิจกรรมที่โลมากระทำกับงู นำไปสู่ข้อสรุปว่าโลมาฝูงนี้ซึ่งมีประมาณ 6 ตัว กำลังเล่นกับงูมากกว่าพยายามที่จะกิน โดยในช่วงเวลาสังเกตการณ์ 7 นาที โลมาเล่นกับงูหลายรูปแบบ ช่วงหนึ่ง โลมาคาบงูว่ายน้ำไปด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง ทั้งความเร็วและความลึกเท่ากันเป็นระยะทาง 80 เมตร บางช่วง สังเกตเห็นโลมาตัวผู้ในฝูง ตื่นตัวทางเพศ
เป็นที่รู้กันว่า สัตว์ฉลาดอย่างโลมารู้จักใช้วัตถุต่าง ๆ ที่หาได้ในท้องทะเล หาความสุขทางเพศให้กับตัวเองได้ รูปถ่ายบางส่วน แสดงให้เห็นองคชาติโลมายื่นออกมา ขณะเล่นกับวัตถุอย่างอนาคอนดา ไดอานา ไรสส์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล วิทยาลัยฮันเตอร์ในนิวยอร์ก บอกนิวยอร์กไทมส์ แสดงความเห็นว่า งูอนาคอนดาอาจเป็นสิ่งเร้าทางเพศของโลมา อาจเป็นสิ่งที่โลมาใช้ถูไถ
นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ว่า โลมาที่โตแล้ว ใช้โอกาสนี้สอนเรื่องงูให้โลมารุ่นเยาว์ในฝูง อีกทฤษฎีการคาบงูอนาคอนดา คือเพื่อโชว์ ให้โลมาเพศเมียประทับใจ ทั้งหมดนี้ล้วนเสริมข้อสรุปว่า การพัวพันกับอนาคอนดาเป็นปฏิสัมพันธ์แบบเล่นกัน กระนั้น ยังมีคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เพราะขาดข้อมูลเกี่ยวกับอาหารของโลมาแม่น้ำ เป็นไปได้หรือไม่ที่ งู อาจเป็นอาหารของโลมาแม่น้ำในบางครั้งคราว นอกจากเป็นกิจกรรมการเล่นและสอน การสังเกตพฤติกรรมในอนาคต จะเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตหายากในที่ราบลุ่มเบนีห่างไกลได้
นักวิจัยสังเกตว่า งูไม่กระดุกกระดิก ส่วนใหญ่หัวของมันอยู่ใต้น้ำ ไม่พบร่องรอยบวมอืดหรือลอย จึงสงสัยว่ามันอาจตายระหว่างปฏิสัมพันธ์กับโลมา หรือตายในท้ายที่สุด
ภาพ Omar M Entiauspe NetoOmar M Entiauspe Neto, Steffen Reichle, Alejandro dos Rios, Ecology (2022)
ที่มา iflscience phys.org