รมต.เกษตรฯ พร้อมเดินหน้ารับมือ "ฤดูฝน" ปี 2565 อย่างเต็มศักยภาพ
รมต.เกษตรฯ เฉลิมชัย ศรีอ่อน แถลงผลการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 เป็นไปตามแผน พร้อมเดินหน้ารับมือ "ฤดูฝน" ปี 2565 อย่างเต็มศักยภาพ
9 พ.ค.65 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าว สรุปการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 และเตรียมรับมือ "ฤดูฝน" ปี 65 โดยมีนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน น.ส. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาและผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการแถลงข่าว ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน
จากนั้นได้ปล่อยคาราวานเครื่องจักรกลและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ประจำอยู่ที่ศูนย์บริหารเครื่องจักรกลที่1- 7 ของสำนักเครื่องจักรกลกรมชลประทาน จำนวนรวม 5,382 หน่วย ผ่านระบบ Video Conference เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศตลอดช่วง "ฤดูฝน" นี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมาโดยมีการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศการเกษตร รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง โดยปฏิบัติตามมาตรการรองรับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ทั้ง 8 มาตรการครบถ้วนและยังมีปริมาณน้ำสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วง "ต้นฤดูฝน" ปี 2565 ด้วย
สำหรับการจัดสรรน้ำภาพรวมทั้งประเทศ พบว่ามีการใช้น้ำไปทั้งสิ้น 23,000 ล้าน ลบ.ม. (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจัดสรรไว้รวมทุกกิจกรรม 22,280 ล้าน ลบ.ม. สำรองน้ำต้นฤดูฝน 15,557 ล้าน ลบ.ม.) เกินแผนที่ตั้งไว้เล็กน้อย
ด้านผลการเพาะปลูกฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมกว่า 8.11 ล้านไร่ (จากแผนที่วางไว้ 6.41 ล้านไร่) ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าปีนี้กรมชลประทานส่งน้ำเกินแผนไปประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม. ทำให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้อีก 1.7 ล้านไร่ ซึ่ง 2 - 3 ปีก่อนหน้านี้ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ชะลอการทำนาปรัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ
แต่ในฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการจัดสรรน้ำอย่างประณีต ทำให้เกษตรกรในเขตชลประทานมีรายได้จากการเพาะปลูกพืชส่วนน้ำสำรอง "ต้นฤดูฝน" ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะต้องสำรองประมาณ 15,557 ล้าน ลบ.ม. ปรากฏว่าในวันเริ่มต้น "ฤดูฝน" วันที่ 1 พ.ค. 65 มีน้ำต้นทุนอยู่ 19,950 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 4,393 ล้านลบ.ม. ถือว่าเป็นกำไร
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้งที่จนถึงขณะนี้มีการจ้างงานไปแล้วกว่า 74,000 คน
ในส่วนแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 2565 กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำโดยส่งเสริมการปลูกพืช "ฤดูฝน" ให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงหรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา
ที่สำคัญได้วางแผนบริหารจัดการน้ำภายใต้มาตรการรับมือ "ฤดูฝน" ปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยได้เตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัย ด้วยการกำหนดวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำในลำน้ำ กำหนดคน กำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่าง ๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานจังหวัดให้ร่วมกันติดตามและวิเคราะห์หรือคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ การจัดสรรทรัพยากร เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล รถขุดรถแทรกเตอร์ หรือเครื่องมือต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนและเกษตรกร ได้มีน้ำใช้ในทุกกิจกรรมตลอดทั้งปีตามศักยภาพที่มีอยู่และสิ่งสำคัญมุ่งเน้นนอกเหนือจากการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมุ่งหวังให้สามารถบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนให้ได้มากที่สุดด้วย ปัจจัยสำคัญคือบุคคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือที่จะต้องมีความพร้อมตลอดเวลา
ทั้งนี้การดำเนินงานต่าง ๆ ของกรมชลประทานจะสำเร็จไม่ได้เลย หากขาดความร่วมมือร่วมใจจากประชาชน เกษตรกร รวมถึงทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำให้การบริหารจัดการน้ำสำเร็จตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมุ่งหวังให้ประชาชนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อการใช้น้ำได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ดร.เฉลิมชัย กล่าว