'ศธ.' จับมือ สธ. ประกาศความพร้อม 'เปิดเรียน 17 พ.ค.นี้'
'ศธ.' จับมือสธ. ร่วมยืนยันประกาศความพร้อม 'เปิดเรียน17 พ.ค.นี้' ทั่วประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ดีขึ้นชัดเจน ขณะเดียวกัน ครู บุคลากร และนักเรียน ได้มีการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์สูงถึงร้อยละ 90
วันที่ 10 พ.ค. 2565 ที่โรงเรียนพญาไท นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) พร้อมด้วย ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ปลัดศธ.)และผู้บริหาร รวมถึงทางฝั่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำโดย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมประชุมเตรียมความพร้อมเปิดเรียนอย่างปลอดภัย ในวันที่ 17 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้
นางสาวตรีนุช ยืนยันว่า ตอนนี้มีความพร้อมที่จะ "เปิดเรียน17.พ.ค. นี้" แล้ว หลังจากเผชิญสถานการณ์โควิด-19 มากว่า 2 ปี ซึ่งตอนนี้แนวโน้มเริ่มคลี่คลาย และกำลังเดินหน้าเข้าสู่โรคประจำถิ่น ทั้งนี้ เชื่อว่าการเรียนที่ดีที่สุดของเด็กคือการที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อน
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้ ในกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ครอบคลุมเกือบทั้งหมด รวมถึงเข็มกระตุ้นเข็มที่3 ด้วย สถานศึกษาจะต้องมีมาตรการรองรับความปลอดภัยเมื่อเด็กมาเรียน ทั้งในเรื่องของมาตรการสาธารณสุข และโครงสร้างสภาพแวดล้อม หรือแผนเผชิญเหตุหากมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในโรงเรียน และที่สำคัญคือแผนฟื้นฟูพัฒนาด้านการเรียนของเด็กด้วย
ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า สถานศึกษาทุกแห่งมีการเตรียมความพร้อม100 % ที่ผ่านการประเมินระบบ Thai Stop covid Plus ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด ครู บุคลากร เป้าหมาย 689,000 คน ตอนนี้เกินกว่าร้อยละ 97 ที่มีการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ ส่วนครูใหม่อาจจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งแต่ส่วนใหญ่รับวัคซีนเกิน 2 เข็มมาแล้ว ส่วนในเด็กโต 12-17 ปีพบว่ามีการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ขณะนี้ถือว่าครอบคลุม โดยเร่งรัดให้มีการฉีดเข็ม 3 ขณะที่เด็ก 5-11ปี คิดเป็นร้อยละ 54 ซึ่งในช่วงพฤษภาคมเป็นต้นไปอาจจะต้องเร่งในการเข้ารับวัคซีนเพิ่มเติม
โดยเช้าวันนี้(10พ.ค.2565) ได้มีออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ในการเปิดสถานศึกษา หลักสำคัญสถานศึกษาจะต้องผ่านการประเมิน Thai Stop covid Plus ในกรณีที่มีการติดเชื้อในสถานศึกษาในห้องเรียน ห้องเรียนนั้นจะต้องปิดทำความสะอาดประมาณครึ่งวันแล้วถึงจะเปิดได้ ส่วนโรงเรียนประจำ จะต้องมีส่วนเฉพาะแยกกัก สำหรับเด็กที่ติดเชื้อหรือกลุ่มผู้สัมผัสเสียงสูง
“ย้ำการเปิดเทอม วันที่17 พฤษภาคมนี้ มีความแตกต่าง คือ การตรวจหาเชื้อ ATK จะตรวจเฉพาะเด็กที่มีอาการเท่านั้น การเว้นระยะห่างจะไม่เป็นปัญหาต่อไป แต่การจัดกิจกรรมกลุ่มอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยห้องเรียนปรับอาการ จะมีการปิดแอร์ทุก 2 ชั่วโมงเพื่อระบายอาการ”ปลัดศธ.กล่าว
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ขณะนี้ มีแนวโน้มการติดเชื้อลดลง และลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
ขณะนี้ได้มีการเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายอายุ 12 ถึง 17 ปี โดยแนะนำสามารถที่จะรับวัคซีนเข็มกระตุ้นขนาดครึ่งโดสได้ ส่วนเด็กประถม 5-11 ปี เป้าหมาย 5 ล้าน 1แสนคน เข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว แล้ว 2ล้าน 8แสนคน คิดเป็นร้อยละ 54.5 ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดไปแล้ว 8.9 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 17.4
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษาสูตรไขว้ในเด็กเข็มที่ 1 ซิโนแวค และเข็มที่ 2 ตามด้วยไฟเซอร์ ห่างกัน 4 สัปดาห์ พบว่า ระดับภูมิต้านทาน มีแนวโน้มสูงไม่ต่างจากการฉีดไขว้ในผู้ใหญ่ โดยมีนักเรียนประสงค์รับวัคซีนสูตรนี้เพิ่มเติมจำนวน 1.6 แสนคน
นพ.โอภาส ระบุอีกว่า การเปิดเรียนเป็นจุดหมายสำคัญ หากประเทศไทยจะเดินหน้าเข้าสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งจะต้องเปิดก่อนมีการผ่อนคลายมาตรการสถานบันเทิงผับบาร์คาราโอเกะ โดยมาตรการของกระทรวงสาสุขมี 3 ขั้น อันดับแรกคือเรื่องของการฉีดวัคซีนโควิดที่ต้องครอบคลุมในกลุ่มเป้าหมายและเป็นไปตามเกณฑ์
ส่วนการตรวจATK คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจเป็นระยะในเด็กแล้ว แต่จะตรวจต่อเมื่อเด็กมีอาการหรือมีความเสี่ยงเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาในการเปิดสอบตามสถานศึกษาต่างๆเด็กกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิดก็สามารถที่จะเข้าสอบได้ภายใต้มาตรการสาธารณสุข โดยที่ผ่านมา การติดเชื้อในสถานศึกษาถือว่ามีการติดเชื้อที่น้อย
ขณะที่เด็กในกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงสามารถมาเรียนได้ แต่ขอให้ระมัดระวังในช่วงแรกสังเกตอาการกักตัว 5 วัน ส่วนเด็กที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการก็จะให้กักตัว 7 วันก่อน และอีก 3 วัน สังเกตอาการ แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องมาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การสอบ สามารถมาสอบ มาเรียนได้ แต่อาจจะต้องมีการจัดรูปแบบแยกเฉพาะเพื่อความปลอดภัย
นพ.สราวุฒิ รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุถึง มาตรการเปิดเรียนกรณีโรงเรียนไปกลับก็ยังคงเเบ่งเช่นเดียวกับโรงเรียนประจำคือกลุ่มผู้สัมผัสเสียงต่ำสามารถเรียนในพื้นที่สถานศึกษาตามปกติแต่ต้องมีการประเมินในระบบ Thai save Thai กลุ่มเสี่ยงสูงแบ่งเป็นกรณีไม่ได้รับวัคซีนโควิดมีอาการและไม่มีอาการแนะนำให้กักตัวเป็นเวลา 5 วันและติดตามเฝ้าระวังอีก 5 วัน และมาตรการที่สำคัญในการเปิดเรียนคือ ทุกโรงเรียนต้องผ่านการประเมิน Thai stop covid plus
ส่วนมาตรการเปิดเรียนในโรงเรียนประจำ โดยจะแบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงผู้ติดเชื้อ จะมีการจัดการเรียนการสอนหรือทำกิจกรรมในโซนเฉพาะเป็นเวลา 5 วัน และติดตามสังเกตอาการอีก 5 วันกรณีได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบแนะนำ หากไม่มีอาการไม่แนะนำให้กักกัน