ข่าว

"เด็กหญิง 14" จบชีวิตลาโลกสะท้อนอะไร จิตแพทย์ห่วง คนข้างเคียง เจอภาวะนี้

"เด็กหญิง 14" จบชีวิตลาโลกสะท้อนอะไร จิตแพทย์ห่วง คนข้างเคียง เจอภาวะนี้

17 พ.ค. 2565

"เด็กหญิง 14" เลือกจบชีวิตลาโลก สะท้อนอะไร กรมสุขภาพจิต ห่วงคนใกล้ชิด และ ครู เจอภาวะซึมเศร้า ขอโซเชียลอย่าเติมเรื่อง

จากกรณี "เด็กหญิง 14" ใน จ.พัทลุง เลือกจบชีวิต เนื่องจากถูกโรงเรียนปฎิเสธให้เรียนต่อ เพียงเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม จนกลายเป็นประเด็นสะท้อนปัญหาสังคม จากเรื่องนี้ กรมสุขภาพจิต แสดงความเป็นห่วงความรู้สึกของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อนสนิทของเด็ก 

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้รับ ดูเหมือนว่า กลุ่มเพื่อนสนิทของ เด็กหญิง 14 มีความใกล้ชิด และได้พยายามช่วยเหลือดูแลกันระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ ความทุกข์ ความรู้สึกผิด ความรู้สึกโกรธ และยอมรับสถานการณ์ไม่ได้ จะมีโอกาสเกิดขึ้นในจิตใจของกลุ่มเพื่อน ๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของการสูญเสีย ซึ่งการดูแลเด็ก ๆ กลุ่มนี้ มีความสำคัญมาก คือ การได้มีผู้ที่คอยรับฟังความรู้สึกติดค้างในใจ และความทุกข์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสมาชิกครอบครัว ผู้ใกล้ชิด หรือกลุ่มเพื่อน ๆ จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลความรู้สึกได้มากที่สุด

 

"เหตุนี้เป็นสิ่งสะเทือนใจสูงมาก ไม่ใช่การสูญเสียปกติที่เป็นไปตามธรรมชาติ จึงเป็นไปได้ที่หลาย ๆ คนอาจจะต้องการความช่วยเหลือ ดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ จิตแพทย์ หรือทีมสุขภาพจิต เข้าไปช่วยดูแลปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา เช่น ความรู้สึกผิด ความรู้สึกโกรธที่มาก ๆ หรืออารมณ์ด้านลบอื่นใดที่เกิดขึ้นมาก รวมถึง ปัญหาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ การคิดวนเวียน การเกิดภาพติดตาที่มีเหตุการณ์บางเรื่องที่ชวนให้สะเทือนใจ ซึ่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพร้อมลงไปช่วยเหลือ"

 

โดยได้มอบหมายให้ทีมสุขภาพจิต ของโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 ประสานโรงพยาบาลพัทลุง ติดต่อถึงโรงเรียน เพื่อที่จะพยายามเข้าไปดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด

พญ.อัมพรกล่าวต่อว่า อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มครู เนื่องจากด้วยสถานการณ์มีการพาดพิงถึงอย่างมาก ดูเหมือนว่าเกี่ยวข้องอยู่ในบริบทพอสมควร เป็นสภาพจิตใจที่น่าจะเกิดทั้งความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกด้านลบอื่น ๆ รวมถึงความสับสน ถ้าหากโรงเรียนมีความต้องการให้ทีมสุขภาพจิต เข้าไปช่วยดูแล ก็มีความพร้อม และพยายามติดต่อโรงเรียนอยู่ด้วย ขณะที่การดูแลกลุ่มเพื่อน ๆ ที่ใกล้ชิดมาก ๆ เพื่อรับฟังความรู้สึก และเป็นการรับฟังที่พยายามทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด พยายามระมัดระวังการที่เด็กจะได้รับข้อมูลเชิงลบจากสื่อต่าง ๆ และปัจจุบันสิ่งที่เป็นห่วงมาก คือ สังคมโซเชียลมีเดีย ที่อาจจะไปเติมความคิด ที่บางครั้งชักนำเด็กไปในทิศทางลบได้มากยิ่งขึ้น เจ็บปวดมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะวิธีการสังเกตคนใกล้ชิด ที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า โดยจะต้องดูอารมณ์ด้านลบที่ถ่ายทอดออกมา การบ่นถึงความทุกข์ความเศร้า อยู่ในระดับที่รบกวนชีวิตประจำวันหรือไม่ กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับหรือไม่ ซึ่งในช่วงสัปดาห์แรก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ อาจจะมีการร้องไห้ คิดวนเวียน เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัว แต่ถ้ารบกวนการใช้ชีวิตเกินไปอาจจะต้องอาศัยยา หรือใช้กระบวนทางจิตวิทยา การบำบัดทางจิตใจ เข้าไปช่วยเหลือ