ข่าว

"ตรีนุช"ยกกรณี"เด็กหญิง 14"จบชีวิตด้วยตัวเองถือเป็นบทเรียน

"ตรีนุช"ยกกรณี"เด็กหญิง 14"จบชีวิตด้วยตัวเองถือเป็นบทเรียน

17 พ.ค. 2565

"ตรีนุช"รมว.ศึกษาธิการยกกรณี"เด็กหญิง 14"จบชีวิตด้วยตัวเองให้เป็นบทเรียน ย้ำโรงเรียนเข้มระบบแนะแนว ดูแลนักเรียนมากขึ้น"เลขาธิการกพฐ."ชี้รร.และผู้ปกครองพูดคุยกันน้อยเกินไปถึงเกิดเรื่องเศร้า

นักเรียนม.3 ยังอยู่ในวัยคอซองอย่าง เด็กหญิง 14 ต้องจบชีวิตด้วยตัวเอง เพราะเงินไม่มี ผู้ปกครองไม่มา บั่นทอนความรู้สึกคนไทยค่อนประเทศ ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้จากเจ้ากระทรวงศึกษาธิการที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาของรัฐกว่าร้อยละ 90 ของประเทศไทย

 

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม  2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)กล่าวถึง เด็กหญิง 14 นักเรียนชั้นม.3 ซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.พัทลุง ตัดสินใจจบชีวิตด้วยตัวเองภายในบ้านที่ อ.สะเดา จ.สงขลา โดยคาดว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กจบชีวิตตัวเองเพราะถูกครูไล่ออกและมีปัญหาครอบครัว ไม่มีเงินจ่ายค่าเรียนนั้น ว่า ความปลอดภัยในสถานศึกษา ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ ศธ.ผลักดันอยู่ตลอด ที่ผ่านมา ได้ตั้งศูนย์สถานศึกษาปลอดภัย หรือ MOE SAFETY CENTER โดยมีช่องทางให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง เข้ามาร้องทุกข์ ผ่านแอพพลิเคชั่น MOE SAFETY CENTER ร้องเรียนผ่าน www.MOESafetyCenter.com, LINE @MOESafetyCenter หรือโทร 0-2126-6565

“เมื่อมีเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ดิฉันเน้นย้ำกับสถานศึกษาทุกแห่งแล้วว่า นอกเหนือจากการสร้างความปลอดภัยแล้ว ควรเพิ่มการแนะแนวเด็กมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการแนะแนวเรื่องอาชีพ แนะแนวเรื่องครอบครัว เพราะบริบทของโรงเรียนแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกัน การสร้างความปลอดภัยในแต่ละบริบทจึงมีไม่เหมือนกัน หากพบเด็กมีปัญหาครอบครัว ขอให้โรงเรียนสร้างความเข้าใจ ทำให้เด็กรู้สึกว่ามีคนที่จะช่วยเหลือสนับสนุนและคอยประคองจิตใจให้เข้มแข็งอยู่ในสังคมต่อไปได้ นอกจากนี้ โรงเรียนควรดูแลสนับสนุนหาทุนการศึกษาให้เด็กเข้าถึง และได้รับการศึกษาทุกคน”น.ส.ตรีนุช กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี เด็กหญิง 14 ที่จบชีวิตด้วยตัวเองถือเป็นบทเรียนให้โรงเรียนกลับมาดูระบบแนะแนวมากขึ้นหรือไม่ น.ส.ตรีนุชกล่าวว่า ค่ะ เพราะที่ผ่านมาแม้โรงเรียนจะมีระบบแนะแนวอยู่แล้ว แต่ควรทำให้เข้มแข็งและเข้มข้น โดยต้องดูรายละเอียดปัญหาของเด็กให้มากขึ้น เพราะสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อน เด็กอาจจะมีปัญหาครอบครัว มีปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นครูควรทำงานใกล้ชิดกับนักเรียนมากขึ้น

 

ด้านดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ทางเขตพื้นที่การศึกษาฯได้รายงานกรณี เด็กหญิง 14 มาที่ตนแล้ว เบื้องต้นพบว่า เด็กหญิง 14 มีปัญหา 2 ส่วน คือ ปัญหาการเรียน และปัญหาครอบครัว โดยปัญหาครอบครัวมาจากผู้ปกครองอยากให้เด็กย้ายไปเรียนที่โรงเรียนใหม่ แต่เด็กอยากเรียนโรงเรียนเดิม ส่วนปัญหาการเรียนคือ เด็กไม่สามารถมาเรียนออนไซต์ได้เหมือนเพื่อน เพราะไม่สามารถหาที่พักได้ทัน

 

“ผมมองว่ากรณี เด็กหญิง 14 นี้ เกิดจากโรงเรียนและผู้ปกครองพูดคุยกันน้อยเกินไป ถ้าพูดคุยกันมากกว่านี้ ใส่ใจกันให้มากกว่านี้ ปัญหานี้อาจจะยังไม่เกิด” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว