"ก้าวไกล"ซัดศธ.และรัฐบาลกรณี"เด็กหญิง14"อย่าทำนิ่งเฉย
รองโฆษก "ก้าวไกล" ร่วมแสดงความเสียใจต่อกรณี"เด็กหญิง 14"ที่จบชีวิตตัวเองสะท้อนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำการศึกษายังสูง ซัดศธ.และรัฐบาลอย่านิ่งเฉย เร่งหามาตรการลดภาระผู้ปกครอง ทำโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
วันที่ 17 พ.ค. 2565 นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.จังหวัดนครปฐม และ รองโฆษกพรรค "ก้าวไกล" กล่าวว่า จากกรณีน้องโบนัส เด็กหญิง 14 นักเรียนชั้นม.3 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง ตัดสินใจจบชีวิตตนเองลงในช่วงที่กำลังจะเปิดเทอม ซึ่งเพื่อนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเหตุมาจากการที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ปัญหาครอบครัวและถูกคำพูดที่บั่นทอนจิตใจจากครูซ้ำเติม ซึ่งภายหลังทางโรงเรียนชี้แจงว่าอาจมาจากการสื่อสารที่ผิดพลาดจนนำไปสู่ความเข้าใจผิดและตัดสินใจจบชีวิตตนเองนั้น
ลำดับแรกต้องขอแสดงความเสียใจและไว้อาลัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากให้ทุกฝ่ายเก็บความสูญเสียครั้งนี้เป็นบทเรียนและช่วยกันหาป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก การที่เยาวชนคนหนึ่งต้องจากไปก่อนวัยอันควร เพราะไม่มีโอกาสทางการศึกษาต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศที่ต้องใส่ใจให้ความสำคัญ ไม่ควรนิ่งเฉยทำเหมือนเป็นเรื่องปกติแล้วปล่อยผ่านไป
สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสังคมไทยที่ยังสูงมากและสะท้อนว่า นโยบายเรียนฟรีของรัฐไม่สามารถฟรีได้จริง และการศึกษายังคงเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองยังคงต้องจ่ายอีกร้อยละ 60 ของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในแต่ละเทอม ยังไม่นับรวมค่าอาหาร ค่าเดินทางในชีวิตประจำวัน ในประเทศที่เห็นความสำคัญด้านการศึกษาจะมีการจัดสวัสดิการของรัฐให้ครอบคลุมเรื่องเหล่านี้สำหรับเด็กวัยเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย ทำให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยหรือเด็กที่ต้องการเรียนยังสามารถเรียนในระบบ เพื่อเป็นประตูสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆในชีวิตได้ แม้ในภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้าย
สำหรับประเทศไทย เหมือนจะมีสวัสดิการที่ดี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 54 ระบุไว้ว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” แต่ในความเป็นจริง ผู้ปกครองยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนมากมาย ทั้งค่าชุดนักเรียน ชุดพละ รองเท้า สมุด หนังสือ ฯลฯ ดังนั้น เครื่องแบบต่างๆหากต้องการให้เด็กๆใส่ รัฐบาลก็ควรจัดสรรงบประมาณฟรีให้ได้เพียงพอ ไม่ใช่เด็กมีเรียน 5 วันต่อสัปดาห์ แต่ชุดฟรีมีแค่ 1-2 ชุด หรือถ้าไม่ได้ก็ควรอนุโลมให้ใส่ชุดไปรเวทแทนได้ และในอนาคต การใส่เครื่องแบบและกำหนดทรงผมยังจำเป็นหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยหาทางฉันทามติร่วมกัน โดยนักเรียนสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย
“อันที่จริงนโยบายเรียนฟรีมีมากว่า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็ยังมีผู้ปกครองนักเรียนประสบปัญหาเดิมๆตลอดทุกครั้งที่เปิดเทอม เรายังเห็นภาพผู้ปกครองต้องดิ้นรนนำสิ่งของในบ้านกระทั่งเครื่องมือหากินอย่างสว่านไปจำนำเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย รับเปิดเทอม นี่คือสภาพที่ยังเกิดขึ้นจริงในปีนี้ซึ่งเป็นสถานการณ์พิเศษ เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นหลังโควิด แต่เท่าที่สังเกต นอกจากคำสั่งให้เปิดเทอมตามปกติแล้ว ยังไม่เห็นมาตรการใดของรัฐออกมาช่วยเหลือผู้ปกครองเลย
“ในความเห็นส่วนตัวมองว่า รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการนิ่งเฉยเกินไปในเรื่องเหล่านี้ เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วประเทศคือ หลายครอบครัวที่รายได้น้อยหรือที่เรียกว่า กลุ่มยากจนและยากจนพิเศษกำลังอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการไม่มีเงินมาจ่ายเพื่อการศึกษาได้และจะทำให้มีเด็กก็ต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษาจำนวนมาก เชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้มีอยู่ในรายงานของกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นสถานการณ์ที่รับรู้มาตลอดอย่างแน่นอน”นางสาวสุทธวรรณ กล่าว
นางสาวสุทธวรรณ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีของน้องโบนัส เด็กหญิง 14 ไม่เพียงแต่สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สร้างภาวะตึงเครียดให้นักเรียนและผู้ปกครองเท่านั้น แต่ยังสะท้อนปัญหาสภาวะภายในโรงเรียนด้วย เชื่อว่าไม่ใช่แค่โรงเรียนสตรีชื่อดังย่านโคลีแห่งนี้เพียงแห่งเดียวที่มีปัญหานี้ แต่นี่เป็นปัญหาเชิงระบบที่เกิดกับโรงเรียนแทบทุกแห่ง เนื่องจากไม่มีกลไกช่วยเหลือรับฟังปัญหาของเด็กๆที่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียน อย่างการกร้อนผม ด่าทอ การใช้คำพูดบั่นทอนจิตใจ หรือแม้แต่การบูลลี่กันในโรงเรียน เรื่องเหล่านี้สามารถกระทบจิตใจและนำไปสู่เหตุการณ์ที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น
“โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป โรงเรียนต้องดูแลนักเรียนทางด้านจิตใจด้วย อย่างน้อยที่สุด ในเบื้องต้นทุกโรงเรียนควรมีนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น ที่สามารถพูดคุยหาทางออกให้กับนักเรียนได้ เด็กต้องมีที่ปรึกษาที่สามารถปรึกษาปัญหาได้จริง ไม่พูดจาซ้ำเติมบาดแผล และช่วยคิดหาทางแก้ไขปัญหา กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ควรตื่นตัวเพื่อจัดการการศึกษาในทิศทางที่ควรเป็นมากกว่านี้ โดยเฉพาะเมื่อเปิดเทอมหลังโควิดมีโจทย์ต้องแก้มากมาย แต่เท่าที่สังเกต การจัดการยังทำเหมือนปกติ ที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือการปล่อยให้โรงเรียนกลายเป็นสถานที่บ่มเพาะและตอบสนองอำนาจนิยมของรัฐบาลมากกว่าเป็นมุ่งไปสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องเปิดกว้างทาง สนับสนุนให้เด็กและครูมีวิธีคิดและมุมมองที่สอดคล้องไปด้วยกันกับคุณค่าและค่านิยมสากลที่ทั่วโลกยึดถือ” นางสาวสุทธวรรณ กล่าวในที่สุด