แหล่งผลิตปลานิลที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ปลานิลในบ่อดินที่มากที่สุดของประเทศ มีเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจปลานิล กว่า 500 ล้านบาทต่อปี
เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย แล้ว โดยเมื่อวานนี้ (18 พ.ค.65) ที่บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอพาน นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน เปิดงานกินปลาและมหกรรมสินค้าOTOP ของดีอำเภอพาน ประจำปี 2565 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากต้องหยุดจัดงานเทศกาลกินปลาไป 2 ปี เนื่องสถานการณ์โควิด-19
อำเภอพาน เป็นแหล่งผลิตปลานิลที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และเป็นแหล่งผลิตปลานิลในบ่อดินที่มากที่สุดของประเทศ มีเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจปลานิล กว่า 500 ล้านบาทต่อปี ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังภาวะโควิด
ทางอำเภอพานจึงร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านอาหาร และทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ และเอกชน ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น ระหว่างวันที่ 18-24 พฤษภาคม 2565 ณ สนามที่ว่าการอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
ในพิธีเปิดเมื่อวานนี้ ยังได้มีการแข่งขันประกอบอาหารจากปลานิล จำนวน 3 เมนู เช่น ลาบปลานิล ต้มแซบปลานิล และเมนูสร้างสรรค์จากปลานิล อีก 1 เมนู โดยมีกลุ่มแม่บ้านในอำเภอพานทั้ง 15 ตำบล เข้าร่วมแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน กติกาใช้เวลา 1 บทเพลงซอ หรือประมาณครึ่งชั่วโมง ในการปรุงเมนูอาหารที่กำหนด บรรเลงเพลงโดย ครูไกรวุฒิ ซอสดเพลงพื้นเมือง
สำหรับผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้ คือ กลุ่มพัฒนาสตรี ตำบลสันกลาง ได้รับรางวัลชนะเลิศ ,กลุ่มพัฒนาสตรี ตำบลเจริญเมือง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ส่วนกลุ่มพัฒนาสตรี ตำบลม่วงคำ ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง
ผู้ชนะเลิศ กลุ่มแม่บ้านตำบลสันกลาง ปรุงเมนูจากปลานิล เช่น ต้มแซบวิจิตร ลาบปลาเจ็ดเซียน พร้อมทั้งเมนูที่สร้างสรรค์จากปลานิล เช่น ปลานิลไพรสน ปลานิลสองโขง ซึ่งแต่เมนูผู้เข้าร่วมแข่งขันก็ได้ตั้งชื่ออย่างไพเราะ ให้ผู้สนใจได้ลิ้มลองเมนูแปลกจากปลานิลครั้งนี้ด้วย
โดยเมนู ปลานิลสองโขง ผู้เข้าประกวดได้จัดแต่งจานอาหาร โดยการนำเนื้อปลานิล ประกอบกับผักเครื่องเคียง เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือเทศมาห่อเป็นก๋วยเตี๋ยวหลอด ราดด้วยน้ำส้มตำเสิร์ฟในช้อนแบ่งเป็นพอดีคำสวยงาม เป็นตัวอย่างเมนูสร้างสรรค์จากปลานิลที่ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจ เป็นเมนูสร้างสรรค์จากปลานิล บริการจัดเลี้ยงในร้านอาหารได้
สราวุธ คำฟูบุตร ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ. เชียงราย