ข่าว

ญาณิศา คว้าแชมป์ประกวด "เล่าเรื่องภาษาไทยกลาง" จาก วิถีกาญจน์ย่านปากแพรก

ญาณิศา คว้าแชมป์ประกวด "เล่าเรื่องภาษาไทยกลาง" จาก วิถีกาญจน์ย่านปากแพรก

22 พ.ค. 2565

ญาณิศา เด็ก รร.กาญจนานุเคราะห์ ชนะใจกรรมการ คว้ารางวัลชนะเลิศประกวด "เล่าเรื่องภาษาไทยมาตรฐาน" หัวข้อ วิถีกาญจน์ย่านปากแพรก

สํานักงานราชบัณฑิตยสภาจัดการประกวดเล่าเรื่อง ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ในโครงการ “รู้ รัก ภาษาไทย” สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 – 3)จากโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจำนวน 10 คน โดยมี รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา คณะกรรมการ ครู ผู้ปกครอง นักเรียนและแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน  ณ ห้องการะเกด โรงแรมกรุงศรี ริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
 

รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา ในฐานะประธานการจัดประกวด "เล่าเรื่อง" ครั้งนี้กล่าวให้โอวาสภายหลังการมอบรางวัลแก่เด็กนักเรียนจากประกวดว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและเป็นโครงการที่จะจัดต่อไปในอนาคต 

 

สิ่งสำคัญที่เราทำเพื่อส่งเสริมในเรื่องการใช้ "ภาษาไทย" ไม่ว่าจะเป็น "ภาษาไทยมาตรฐาน" หรือภาษาไทยท้องถิ่น ซึ่งเราให้ความสำคัญเท่ากัน เพราะถือว่าภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติทุกภาษาที่เป็นภาษาไทย มีความสำคัญและเราจำเป็นต้องรักษาสืบทอดและพัฒนาต่อไปในอนาคต เพราะภาษาเหล่านี้เป็นการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นคนไทย

     ญาณิศา คว้าแชมป์ประกวด \"เล่าเรื่องภาษาไทยกลาง\" จาก วิถีกาญจน์ย่านปากแพรก

                                                              รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ 

 

รศ.ดร.ศานติกล่าวต่อว่า สำหรับหัวข้อเล่าเรื่องประกวดปีนี้ก็จะเน้นในเรื่องของท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่สืบเนื่อง ต่อเนื่องกัน พูดง่าย ๆ ว่ารู้แต่ภาษาแต่ขาดที่มา ขาดท้องถิ่นที่เป็นรากเหง้า ขาดความเป็นวัฒนธรรมหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ "ภาษา" ก็เป็นแค่เครื่องมือสื่อสารไม่สามารถที่จะแสดงความเป็นตัวตนของเราได้ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญการที่จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมใดได้ลึกซึ้งก็ต้องเข้าถึงที่มาด้วยและทุกที่ของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมา มีที่มาที่ไปทั้งสิ้น

 

แม้กระทั่งที่เรานั่งอยู่ที่ตรงนี้ ถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์พื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ พื้นที่ตรงนี้อยู่ติดกับวัดพิชัยสงคราม ซึ่งเป็นจุดตั้งทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนที่ตีฝ่าลงล้อมไปจันทบุรี ตรงนี้เป็นหมุดหมายสำคัญอันหนึ่งที่นำไปสู่จุดก่อกำเนิดของกรุงธนบุรีและสืบเนื่องต่อมาเป็นกรงุรัตนโกสินทร์ครบรอบ 240 ปีในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นรากเหง้ารากฐานที่มา "ภาษา" วัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธกันและอยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญรู้คุณค่าและสามารถต่อยอดต่อไปในอนาคตด้วย

ประธานการจัดประกวดฯ ย้ำด้วยว่า การจัดประกวดในครั้งนี้เป็นภาคสุดท้าย ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีโรงเรียนต่าง ๆ คุณครู น้อง ๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราอยากจะสืบสานสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้ดำรงอยู่ต่อไปและทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้แต่จะต่อยอดต่อไปในอนาคต และปีหน้าเราจะจัดกิจกรรมเช่นนี้อีกและหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากคุณครูและโรงเรียนต่าง ๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมต่อไปเช่นเดิม

    ญาณิศา คว้าแชมป์ประกวด \"เล่าเรื่องภาษาไทยกลาง\" จาก วิถีกาญจน์ย่านปากแพรก

                                                              ด.ญ. ญาณิศา ว่องชิงชัย

 

ด.ญ. ญาณิศา ว่องชิงชัย  นักเรียนชั้นมัธยมปีที่3 โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ชนะใจคณะกรรมการ   คว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้สำเร็จ จากการพูดในหัวข้อ”วิถีกาญจน์ย่านปากแพรก”เป็นการบอกเล่าประวัติความเป็นมาของชุมชนปากแพรกหรือตัวเมืองกาญจนบุรีในปัจจุบัน 

 

เธอ บอกว่า ได้รับการถ่ายทอดข้อมูลนี้มาจากคุณยายว่าเมื่อก่อน กาญจนบุรีเป็นเมืองชายแดนเล็ก ๆ ที่ใช้เป็นเส้นทางเดินทัพระหว่างไทยกับเมียนมามาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย แต่หลังจากสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้นครองราชย์ทรงรับสั่งให้ย้ายเมืองกาญจนบุรีจากทุ่งลาดหญ้ามายังปากแพรกด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์และง่ายต่อการคมนาคมทางน้ำและสิ่งที่เรียกว่าปากแพรกนั้นคือจุดที่แม่น้ำแควน้อยจากอ.ไทรโยคและแม่น้ำแควใหญ่จากอ.ศรีสวัสดิ์ไหลลงมาบรรจบกันรวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง 

 

ปัจจุบันคนเมืองกาญจน์นิยมเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่าหน้าเมือง เนื่องจากทุก ๆ เช้าจะมีเรือบรรทุกสินค้ามาจากฝั่งเหนือผ่านทางแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่มาจำหน่ายบริเวณหน้าเมือง สินค้าส่วนมากจะเป็นพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล   ตลอดเส้นทางสองฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ปากแพรกยังซ่อนความลับในสงครามโลกครั้งที่สองไว้มากมาย

 

รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลจากการประกวดครั้งนี้ ได้ประสบการณ์ที่ดี ภูมิใจมาก ๆ เจ้าของรางวัลชนะเลิศ กล่าวอย่างภูมิใจ

ญาณิศา คว้าแชมป์ประกวด \"เล่าเรื่องภาษาไทยกลาง\" จาก วิถีกาญจน์ย่านปากแพรก

                                                           ด.ญ.ธนิษฐ์ชญา ฮะสูน

 

เช่นเดียวกับเด็กหญิงธนิษฐ์ชญา ฮะสูน นักเรียนชั้นมัธยมปีที่3 โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์(ฝ่ายมัธยม) อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีความรู้สึกดีใจไม่ต่างกัน หลังเธอสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 จากการพูดเล่าเรื่องในหัวข้อ หัวหินถิ่นนี้มีดีมากกว่าทะเล   
 

เธอเล่าว่าหากพูดถึงหัวหินทุกคนจะรู้แค่หาดทรายและทะเล คุณยายเล่าให้ฟังว่าเดิมหัวหินไม่ใช่แหล่งชุมชนเหมือนทุกวันนี้หลังจากคนตำบลบางแก้วทางฝั่งเพชรบุรีอพยพย้ายถิ่นฐานมาเกิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ แล้วขยายใหญ่โตขึ้นมาจนปัจจุบัน

 

หัวหินแต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่าสมอเรียง เป็นภาษาขอม แปลเป็นไทยได้ว่าบ้านแหลมหิน ต่อมาจึงเรียกว่าหัวหิน แต่จะรู้จักกันในเพลงหัวหินเป็นถิ่นมีหอย เนื่องจากสมัยก่อนชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงมาจับปลาหาหอยกันมากที่หัวหินเนื่องจากชายฝั่งแถบนี้มีหอยชุกชุม

 

เมื่อชาวบ้านเห็นฝรั่งอาบแดดอยู่ที่โขดหิน จึงเกิดเป็นเพลงแซวฝรั่งขึ้นมาว่า หัวหินเป็นถิ่นมีหอย ฝรั่งนั่งคอยจนหอยติดหิน แล้วเพลงนี้กลายเป็นเพลงกีฬาสี เพลงค่ายลูกเสือติดหูมาจนทุกวันนี้

พื้นที่หิวหิน ประจวบฯติดกับเพชรบุรีและชุมพรก็รับเอาวัฒนธรรมจากทั้งสองที่มาผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืน เสียงที่ติดเหน่ออยู่บ้างก็ได้รับสำเนียงมาจากเพชรบุรี คนหัวหินก็จะเหน่อหน่อย ๆ  นี่เป็นเวทีแรกของหนูที่ได้มาพูดต่อหน้าคณะกรรมการตอนแรกรู้สึกประหม่า แต่หนูคิดว่าเรามาถึงตรงนี้แล้วก็ต้องทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด ดีใจที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 กล่าวอย่างภูมิใจ

 

ทั้งนี้ "การประกวดเล่าเรื่อง" เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี 2565 ภายใต้โครงการ ”รู้ รัก ภาษาไทย” จัดโดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภา  ซึ่งได้จัดมาแล้วใน 3 ภูมิภาค ภาคใต้ ที่จ.สงขลา และภาคเหนือที่จ.เชียงใหม่ ภาคอีสานที่จ.ขอนแก่น และครั้งนี้เป็นเวทีของภาคกลางและภาคตะวันออก โดยนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 ของแต่ละภูมิภาค จะเข้ารับรางวัลใน "งานวันภาษาไทยแห่งชาติ" ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานครต่อไป

 

อย่างไรก็ตามในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งจะถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุ ม.ก.kurplus เชื่อมเครือข่ายทั้ง 4 ภูมิภาคและระบบออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มด้วย