"ชัชชาติ" คว้าชัย "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." ด้วยคะแนนสูงสุด 1,386,215 คะแนน
กรุงเทพมหานคร ประกาศผลการนับคะแนน อย่างไม่เป็นทางการ เวลา 01.10 น. "ชัชชาติ" คว้าชัยชนะการ "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." ด้วยคะแนนสูงสุด 1,386,215 คะแนน
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร โดยได้กำหนดให้มีการ "เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." และ "ส.ก." นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.00 - 17.00 น.
ผลการนับคะแนนเลือกตั้งแล้วเสร็จทั้ง 50 สำนักงานเขต รวม 6,817 หน่วยเลือกตั้ง อย่างไม่เป็นทางการ ในเวลา 01.10 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ปรากฎว่า หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดอิสระ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุด จำนวน 1,386,215 คะแนน
การเลือกตั้ง ส.ก.
• ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยที่นับคะแนนแล้ว 4,357,098 คน
• ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งของหน่วยที่นับคะแนนแล้ว 2,635,283 คน
• ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ 60.48
• เป็นผู้สมัครสังกัดพรรคเพื่อไทย จำนวน 19 คน พรรคก้าวไกล 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน พรรคไทยสร้างไทย 2 คน พรรคพลังประชารัฐ 2 คน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 2 คน และผู้สมัครอิสระ 2 คน
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
• ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 4,402,948 คน
• ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาแสดงตนขอรับบัตรเลือกตั้ง จำนวน 2,673,696 คน
• ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ 60.73
• บัตรดี จำนวน 2,561,447 บัตร คิดเป็นร้อยละ 95.80
• บัตรเสีย จำนวน 40,017 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.50
• บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน จำนวน 72,227 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.70
• เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คือ เขตทวีวัฒนา ร้อยละ 67.65
• เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คือ เขตดุสิต 45.82
กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายในสามสิบวัน
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 17 ระบุให้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตั้งนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง
สรุปรายงานเหตุการณ์ประจำวัน
ภาพรวมการเลือกตั้งตลอดทั้งวันพบมีฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่ได้จัดเจ้าหน้าที่เร่งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มีการรายงานการฉีกบัตรเลือกตั้ง จำนวน 3 ราย (เขตสวนหลวง เขตบางซื่อ เขตสัมพันธวงศ์)
- ขยำบัตรเลือกตั้ง จำนวน 1 ราย (เขตคลองเตย)
- นำบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้ง จำนวน 1 ราย (เขตบางซื่อ) โดยเจ้าหน้าที่ได้ประสาน สน.เตาปูน ติดตามและนำตัวไปดำเนินคดี
- มีการทำบัตรเลือกตั้งชำรุด จำนวน 1 ราย (เขตหนองแขม) เนื่องจากเข้าใจว่าหย่อนบัตรผิดหีบ จึงดึงบัตรเลือกตั้งกลับคืน ทำให้บัตรชำรุด เจ้าหน้าที่ รปภ. นำตัวไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.หนองแขม
- มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรลงคะแนน แล้วใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งขณะอยู่ในคูหาเลือกตั้ง เพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมและส่งพนักงานสอบสวน สน.พญาไท (เขตราชเทวี)
- ภาพรวมผู้ป่วยโควิด-19 มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 93 ราย ผู้มีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จำนวน 25 ราย
แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23-29 พฤษภาคม 2565
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากมีเหตุอันสมควรให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 23-29 พฤษภาคม 2565 โดยสามารถแจ้งเหตุได้ 3 ช่องทาง คือ
1. ทำเป็นหนังสือยื่นด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นยื่นแทน
2. ทำเป็นหนังสือจัดส่งทางไปรษณีย์ โดยถือเอาวันที่ไปรษณีย์ลงรับเป็นวันแจ้งเหตุฯ และ
3. แจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th หรือ www.ect.go.th หรือ แอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ “การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์”
ทั้งนี้เหตุที่ถือเป็นเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ประกอบด้วย
1. มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
2. เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
3. เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
4. เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
5. มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
6. ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
7. เหตุสุดวิสัยอื่น
สรุปผลการนับคะแนน เลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. (อย่างไม่เป็นทางการ)
อันดับ 1 เบอร์ 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สมัครในนามอิสระ 1,386,215 คะแนน
อันดับ 2 เบอร์ 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ 254,647 คะแนน
อันดับ 3 เบอร์ 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล 253,851 คะแนน
อันดับ 4 เบอร์ 3 นายสกลธี ภัททิยกุล สมัครในนามอิสระ 230,455 คะแนน
อันดับ 5 เบอร์ 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สมัครในนามอิสระ 214,692 คะแนน
อันดับ 6 เบอร์ 7 นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมัครในนามอิสระ 78,993 คะแนน
อันดับ 7 เบอร์ 11 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย 73,720 คะแนน
อันดับ 8 เบอร์ 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ สมัครในนามอิสระ 20,742 คะแนน
อันดับ 9 เบอร์ 2 พ.ท.หญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล สมัครในนามอิสระ 19,841 คะแนน
อันดับ 10 เบอร์ 9 นางสาววัชรี วรรณศรี สมัครในนามอิสระ 8,274 คะแนน
อันดับ 11 เบอร์ 24 นายโฆสิต สุวินิจจิต สมัครในนามอิสระ 3,247 คะแนน
อันดับ 12 เบอร์ 12 นายประยูร ครองยศ สมัครในนามอิสระ 2,219 คะแนน
อันดับ 13 เบอร์ 10 นายศุภชัย ตันติคมน์ สมัครในนามอิสระ 2,189 คะแนน
อันดับ 14 เบอร์ 16 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ สมัครในนามอิสระ 2,129 คะแนน
อันดับ 15 เบอร์ 22 นายวรัญชัย โชคชนะ สมัครในนามอิสระ 1,128 คะแนน
อันดับ 16 เบอร์ 14 นายธเนตร วงษา สมัครในนามอิสระ 1,092 คะแนน
อันดับ 17 เบอร์ 18 นางสาวสุมนา พันธุ์ไพโรจน์ สมัครในนามอิสระ 908 คะแนน
อันดับ 18 เบอร์ 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์ สมัครในนามอิสระ 868 คะแนน
อันดับ 19 เบอร์ 31 นายวิทยา จังกอบพัฒนา สมัครในนามอิสระ 812 คะแนน
อันดับ 20 เบอร์ 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ สมัครในนามอิสระ 756 คะแนน
อันดับ 21 เบอร์ 19 นายไกรเดช บุนนาค สมัครในนามอิสระ 636 คะแนน
อันดับ 22 เบอร์ 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที สมัครในนามอิสระ 574 คะแนน
อันดับ 23 เบอร์ 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ สมัครในนามอิสระ 558 คะแนน
อันดับ 24 เบอร์ 29 นายกฤตชัย พยอมแย้ม พรรคประชากรไทย 494 คะแนน
อันดับ 25 เบอร์ 25 นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ สมัครในนามอิสระ 460 คะแนน
อันดับ 26 เบอร์ 23 นายเฉลิมพล อุตรัตน์ สมัครในนามอิสระ 431 คะแนน
อันดับ 27 เบอร์ 30 นายพงศา ชูแนม พรรคกรีน 424 คะแนน
อันดับ 28 เบอร์ 27 นายภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ สมัครในนามอิสระ 391 คะแนน
อันดับ 29 เบอร์ 26 พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ สมัครในนามอิสระ 359 คะแนน
อันดับ 30 เบอร์ 21 นายนิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ สมัครในนามอิสระ 342 คะแนน