ข่าว

โครงการพระราชดำริช่วย "ชาวห้วยกระเจา” จากแห้งแล้งสู่แหล่งเก็บกักน้ำ

โครงการพระราชดำริช่วย "ชาวห้วยกระเจา” จากแห้งแล้งสู่แหล่งเก็บกักน้ำ

23 พ.ค. 2565

โครงการพระราชดำริช่วย “ชาวห้วยกระเจา” จากพื้นที่แห้งแล้งสู่แหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน ทำให้ราษฎรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรของราษฎร

ทุกปีเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี จะต้องสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกล สูบน้ำส่งไปช่วยประชาชนในพื้นที่ "ต.ห้วยกระเจา" ต.วังไผ่ ต.สระลงเรือ  อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี

 

โดยสูบน้ำจากสระน้ำหนองหญ้ากาด 1 หมู่ 13 บริเวณวัดซ้องสาธุการ "ต.ห้วยกระเจา" ไปยังสระน้ำหนองหญ้ากาด 2 หมู่ 16 ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อเป็นน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้แก่ประชาชนในพื้นที่หมู่ 1 หมู่ 13 หมู่ 16 หมู่ 21 ต.ห้วยกระเจา และสูบน้ำจากสระน้ำเหมืองแร่เก่าพนมทวน ไปยังสระน้ำอ่างหินระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตรเพื่อเป็นน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ หมู่ 8 ต.วังไผ่ 

 


"ห้วยกระเจา" เดิมขึ้นกับ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6 ต่อมามีการแบ่งพื้นที่ อ.พนมทวน ออกมาเป็นกิ่ง อ.ห้วยกระเจา ปกครอง 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.ดอนแสลบ ต.วังไผ่ ต.สระลงเรือ และ ต.ห้วยกระเจา และประกาศจัดตั้งเป็น อบต.ห้วยกระเจา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539  ต่อมายกฐานะเป็นเทศบาลตำบลห้วยกระเจา เมื่อวันที่ 25  กรกฎาคม 2551

     โครงการพระราชดำริช่วย \"ชาวห้วยกระเจา” จากแห้งแล้งสู่แหล่งเก็บกักน้ำ

 

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ ในขณะที่พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยยังคงเท่าเดิม ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลง เกิดการขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน ซึ่งมีไม่เพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงพืชพรรณ รวมถึงเพื่อการดำรงชีวิตของราษฎร  

     โครงการพระราชดำริช่วย \"ชาวห้วยกระเจา” จากแห้งแล้งสู่แหล่งเก็บกักน้ำ

 

นายประโคม สาระศาลิน ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่จึงได้ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำหนองหญ้ากาดไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2564 

 

จากนั้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำหนองหญ้ากาดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "ต.ห้วยกระเจา" อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี พร้อมรับฟังบรรยายสรุปความก้าวหน้าของโครงการ ฯ

 

จากนั้นได้เยี่ยมชมสภาพพื้นที่ซึ่งปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำได้แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ หากโครงการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรของราษฎร ต.ห้วยกระเจา และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 258 ครัวเรือน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้จำนวน 20,000 ไร่ ทำให้ราษฎรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

นายประคูณ สาระศาลิน ราษฎร  "ต.ห้วยกระเจา" อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจบุรี บุตรชายนายประโคม สาระศาลิน ซึ่งเป็นผู้ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือเรื่องแหล่งน้ำ เป็นตัวแทนกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ว่า เมื่อปี 2557 - 2558 ประสบปัญหาภัยแล้งน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปาหมู่บ้านแห้งขอด ต้องซื้อน้ำจากหมู่บ้านข้างเคียงมาใช้แต่ละครั้งก็ต้องซื้อ 2,000 ลิตร เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 300 บาท  จึงได้ขอพระราชทานความช่วยเหลือ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
 

ชาวบ้านในตำบลนี้รู้สึกปลาบปลื้มดีใจเป็นอย่างมาก เพราะชั่วลูกชั่วหลานไม่เคยมีน้ำใช้แบบนี้เลย ดีใจมากที่พระองค์ท่านทรงรับโครงการไว้  ประชาชนส่วนใหญ่ มีอาชีพทำนาก็รอทำนาปีอย่างเดียว บางปีไถนา 2 - 3 รอบ เพราะฝนทิ้งช่วง บางส่วนก็ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ช่วงฝนตกมีน้ำก็จะปลูกผักอย่างอื่นบ้าง บางรายเลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ ก็เจอภัยแล้งไม่มีน้ำให้สัตว์กิน คนที่พอมีทุนก็เจาะบาดาลพอใช้ในครัวเรือน

 

อย่างเช่นหมู่ที่ 15 เจาะน้ำไม่ออก ชาวบ้านเป็นหนี้ไม่มีเงินจ่ายเพราะไม่มีรายได้ รู้สึกขอบคุณในหลวง พระองค์เป็นเทวดามาโปรด ต่อไปนี้ก็จะสบาย ตอนนี้มีความหวังแล้วว่าชีวิตจะดีขึ้น ขอกราบพ่อหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ารับโครงการที่ได้เคยถวายฎีกาทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ แล้วก็ขอสัญญาว่าจะดูแลโครงการฯ นี้ให้ดีที่สุด นายประคูณ สาระศาลิน กล่าว