"ชลประทาน" เตือน 7 จังหวัดภาคกลาง ท้าย "เขื่อนเจ้าพระยา" ระวังน้ำท่วมฉับพลัน
"ชลประทาน" เตือน 7 จังหวัด ท้าย "เขื่อนเจ้าพระยา" ระวังน้ำท่วมฉับพลัน ปชช. ตั้งแต่ ชัยนาท ถึงพระนครศรีอยุธยา หากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ชลประทานจะแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเตรียมตัวเพื่อขนย้ายสิ่งของ
24 พ.ค. นายชวลิต ฉลอม ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำ จากเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา สทนช.ได้ประกาศ ฉบับที่ 14/2565 เรื่องเตือนสถานการณ์ฝนที่ตกบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคกลาง โดยได้แจ้งให้ทุกสำนักงานชลประทานเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ อาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 19-25 พฤษภาคม 2565
สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา สามารถสังเกตได้จากปริมาณน้ำที่ไหลมาจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มารวมกันที่สถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ เป็นเกณฑ์ในการบริหารจัดการน้ำของลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งแนวโน้มสถานการณ์ปัจจุบัน ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถานี C2 มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 797 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เขื่อนเจ้าพระยาจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อน เพิ่มขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.เป็นต้นมา
ทางสำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนจังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และลพบุรี รวม 7 จังหวัด ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำ โดยเขื่อนเจ้าพระยาจะระบายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณ 65 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 300-500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา
และแจ้งเตือนฉบับที่ 2 มีการแจ้งเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เป็น 600-700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2565 ซึ่งปัจจุบันมีการระบายน้ำออกท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ 650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะส่งผลกระทบ บริเวณ ตำบลกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 12 เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงนี้เป็นฤดูฝน จึงขอให้พี่น้องประชาชนเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงไป จังหวัดชัยนาท ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นทางชลประทานจะแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาเตรียมตัวเพื่อขนย้ายสิ่งของ อย่างไรก็ตามขอให้ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำจากทุกช่องทาง
เกียรติยศ ศรีสกุล ผู้อำนวยการข่าว ภาคกลาง