มนัญญา เร่งลดความแออัด "ด่านหนองคาย" รองรับส่งออกผลไม้คาดทะลุพันล้าน
รมช.เกษตรฯ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รับข้อเสนอจังหวัดหนองคาย เร่งปรับปรุง ส่งออก-นำเข้า แก้ปัญหาคอขวดที่ "ด่านหนองคาย" คาดสิ้นปี 65 ยอดส่งออกผลไม้ผ่านด่านฯทะลุ 1 พันล้านบาท
วันที่ 25 พ.ค.65 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการทำงาน "ด่านตรวจพืชหนองคาย" ที่ด่านศุลกากรจังหวัดหนองคายเพื่อมารับทราบปัญหาอุปสรรคเพื่อหาทางแก้ไขเนื่องจากการส่งออก- นำเข้าสินค้า "ผ่านด่าน" แห่งนี้มีการขยายตัวของปริมาณสินค้าเพิ่มมากขึ้นแต่พื้นที่ไม่เพียงพอ
เบื้องต้นทราบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดได้จัดหาที่ดินจะรองรับการขยายตัวกว่าร้อยไร่ แต่งบประมาณปรับปรุงไม่เพียงพอ ดังนั้นจะรับส่วนนี้ไปหารือกับทางรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่แออัด ไม่สามารถรองรับการขนส่งได้ทันกับฤดูการผลิต คาดสิ้นปียอดส่งออก "ผลไม้ไทย" เฉพาะจาก "ด่านหนองคาย" สู่จีนทะลุ 1,000 ล้านบาท
"ที่เอกชนระบุว่าช้านั้น เมื่อมาดูข้อเท็จจริงพบว่า ทุกฝ่ายทำงานเต็มที่ แต่เนื่องจากพื้นที่แออัด ทำให้ไม่คล่องตัวในการเข้าใช้บริการ แต่ยืนยันว่าการตรวจ "สินค้าเกษตร"ทั้งส่งออก- นำเข้าไม่ล่าช้า เร็วกว่าเดิมเพราะมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบเคลื่อนที่ ดังนั้นที่มีบางข่าวระบุว่าช้านั้นไม่จริง แต่เป็นเพราะเอกชนบางรายรอให้มีสินค้าเข้ามาเต็มจำนวน 50 ตู้เพื่อลดค่าขนส่งทางรถไฟ
อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายล้วนทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ ดังนั้นขอรับข้อเสนอของจังหวัดไปผลักดันต่อไป เพราะการเขียนงบฯว่าเพื่อขยายพื้นที่รองรับรถไฟไทยจีน ทางผู้อนุมัติอาจมองว่ายังไม่มีรถไฟเลยอาจจัดสรรงบฯ มาน้อย ดังนั้นจะช่วยไปชี้แจงแทนชาวหนองคายว่า รองรับการขยายตัวของการส่งออกและนำเข้าสินค้า" นางสาวมนัญญา กล่าว
รมช.เกษตรฯกล่าวว่า สำหรับระบบตรวจปล่อยทุเรียนออกนอกราชอาณาจักรตามพิธีสารว่าด้วยการกักกันโรคและตรวจสอบก่อนส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชาจีน ปัจจุบันมีรูปแบบที่ชัดเจนคือด่านปลายทางตรวจสอบทะเบียนส่งออก หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ หมายเลขซีล ถูกต้องครบถ้วนตาม "ด่านตรวจพืชต้นทาง" แจ้งผ่านระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ ส่งสำเนาใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ไปประเทศปลายทางคาดว่าจะทำให้การส่งออก
ดีขึ้น
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมฯพร้อมบูรณาการจัดหาพื้นที่ร่วมกับศุลกากร เพื่อขยายศักยภาพของด่านให้รองรับการขยายตัวพื้นที่เศรษฐกิจของภาคอีสานตอนบน
จากการติดตามงานพบว่ามีปัญหาอุปสรรคในการตรวจปล่อยสินค้าที่เข้ามากับเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาว-ไทย มาถึงล่าช้าทำให้การปฏิบัติงานล่าช้าไม่เป็นไปตามกำหนดผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มและต้องปฏิบัติตามมาตรการปลอดโควิดร้อยเปอร์เซ็นต์
ประกอบกับการนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นเรื่องใหม่ต้องปฏิบัติภายใต้พิธีสารที่กำหนดมีความละเอียดทำให้ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบสินค้าก่อนนำเข้านานและสินค้านำเข้าจากจีนแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นแต่พื้นที่การตรวจสินค้าไม่ได้ขยายตัวตามปริมาณงาน เกิดความแออัดของพื้นที่และการจราจร "หน้าด่าน" ติดขัด
สำหรับสินค้าเกษตรแต่ละประเภทที่นำเข้า ธ.ค. 64- เม.ย. 65 มี 4 รายการคือ 1.ผักสด เช่น ผักกาดขาว บร็อคโคลี กระหล่ำปลีรูปหัวใจ บัวหิมะ กระหล่ำดอกนำเข้า 228 ครั้ง ต้นทางจากประเทศจีน 3,317 ตัน มูลค่า 66 ล้านบาท
2. ไม้ดอก ไม้ประดับ นำเข้า 10 ครั้ง จากจีนจำนวน 132 ตัน มูลค่า13 ล้านบาท 3. ผลิตภัณฑ์จากไม้ นำเข้า 2 ครั้งจากจีน 35 ตัน มูลค่า 9 แสนบาท และ 4. กระเทียมนำเข้า 1 ครั้งจากจีนปริมาณ 26 ตัน มูลค่า 3 แสนบาท
ขณะที่สินค้าเกษตรที่ส่งออกไปจีนผ่านด่านดังกล่าวจำนวน148 ครั้ง 2.6 ล้านตันมูลค่า 428 ล้านบาท
ปริมาณนำเข้าปี 65 ณ พ.ค. ณ ด่านตรวจพืชหนองคาย รวม 19,319 ตัน มูลค่า162 ล.บาทเป็นสินค้ากลุ่มข้าวบาร์เลย์ ไม้แปรรูป ใบยาสูบแห้ง ไม้
เสียบจากไม้ไผ่ ถ่านไม้และอื่นๆ ปริมาณและมูลค่าส่งออกรวม 47,644 ตัน มูลค่า 664 ล้านบาท
สำหรับด่านที่อนุญาตให้มีการส่งออกนำเข้าตามพิธีสานว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรค แมลงศัตรูพืช และตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยและจีน กำหนดด่านนำเข้าส่งออกของไทย 6 ด่านคือ ด่านเชียงของ นครพนม มุกดาหาร บ้านผักกาด บึงกาฬ หนองคาย
และด่านนำเข้าส่งออกของจีน 10 ด่านคือ 1.ด่านโหว่อี้กว่าน 2.โม่ฮาน3.ตงชิง4.ด่านรถไฟผงเสียง5.ด่านรถไฟโม่ฮ่าน6. ด่านเหอโขว่ 7.ด่านรถไฟเหอโขว่ 8.ด่านหลงปัง 9. ด่านเทียนเป่า10.ด่านสุยโขว่