นายกฯย้ำจุดยืนหนุน "เอสเอ็มอี" ในเวที "Nikkei Forum" ครั้งที่ 27
นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุม "Nikkei Forum" ครั้งที่ 27 ที่ประเทศญี่ปุ่น ยืนยัน ประเทศไทยให้การสนับสนุน "เอสเอ็มอี" เพื่อความยั่งยื่น
เวลา 06.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมในตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ ณ กรุงโตเกียว เพื่อเข้าร่วมการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27
นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมฯ และขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น ตั้งใจมาร่วมการประชุมด้วย 4 เหตุผลหลัก คือ 1.ไทยเชื่อว่าญี่ปุ่นเป็นมิตรแท้ของไทยเสมอมา นายกรัฐมนตรีคิชิดะได้เยือนไทยและประเทศในอาเซียนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อเนื่องทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์และมิตรภาพกว่า 135 ปี ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น
2.ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญอันดับ 2 ของไทย และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เหนียวแน่น นับตั้งแต่ได้จัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น หรือ JTEPA และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งในปี 2564 การค้าระหว่างกันมีมูลค่าสูงกว่าหกหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน คิดเป็นเกือบร้อยละ 30 ของมูลค่าFDI ทั้งหมดของไทยในปีที่แล้ว นอกจากนี้ จากที่ RCEP มีผลใช้บังคับเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นการเจริญเติบโตทางการค้าที่มหาศาลระหว่างประเทศสมาชิก
3.การที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ซึ่งญี่ปุ่นเป็นสมาชิกที่แข็งขัน ในปีนี้ซึ่งตรงกับที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน และอินโดนีเซียเป็นประธาน G20 ประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณของความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสริมสร้างความเข้มแข็ง ความน่าเชื่อถือ และบทบาทของอาเซียน ในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคและของโลกต่อไป ซึ่งไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมร่วมมือในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้น โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะในโอกาสการฉลองความสัมพันธ์ 50 ปีระหว่าง อาเซียนกับญี่ปุ่นในปีหน้า และ 4.เชื่อว่าโลกกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทาย การเข้าร่วมประชุมในเวทีแห่งนี้ทำให้ได้แบ่งปันมุมมองของไทยและรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคเอกชน
นายกรัฐมนตรีได้ กล่าวถึง หัวข้อหลัก ของไทย “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” ไทยผลักดันให้ทบทวนการหารือเรื่อง FTAAP โดยคำนึงถึงประเด็นการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม และหวังว่าจะมีการต่อยอดงาน การเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน การลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน และการรวมตัวทางเศรษฐกิจ หัวข้อหลักที่ 2 “เชื่อมโยงกัน” ในทุกมิติ ไทยมุ่งจะเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกัน โดยได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อหาแนวทางที่จะรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัย และไร้รอยต่อ การใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกันได้ในเอเปค และการขยายขอบเขตการใช้บัตรเดินทางของนักธุรกิจในเอเปค เป็นต้น หัวข้อหลักที่ 3 “สู่สมดุล” ในทุกทาง ไทยผลักดันการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยจุดมุ่งหมายประการหนึ่งที่สำคัญ คือการทำให้เอสเอ็มอี ธุรกิจที่นำโดยสตรี และธุรกิจเล็ก ๆ ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ สามารถเข้าถึงตลาดและเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันและมีโอกาสที่จะเติบโต