มนัญญา พลิกโฉม "สารวัตรเกษตร" จากบทบาทตรวจจับ เป็นเพื่อนคู่คิด เกษตรกรไทย
รมช.เกษตรฯ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ พลิกโฉม "สารวัตรเกษตร" และอาสาสมัคร เป็นเพื่อนคู่คิดของเกษตรกรไทย ย้ำซื้อ ปุ๋ย ยา ถูกต้อง ใช้ปลอดภัยและลดต้นทุนการผลิต
26 พ.ค.65 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการมอบนโยบายให้ "สารวัตรเกษตร" ในสังกัดของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร เครือข่าย 8 แห่ง รวมทั้งหมด 11 จังหวัด ว่า ให้เน้นบทบาทของการเป็นพี่เลี้ยง เป็น "เพื่อนคู่คิด" ของเกษตรกรไทยในการให้ความรู้เพื่อเป็นเครื่องมือในการเลือกซื้อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพและถูกกฏหมาย รวมถึงติดตามการจำหน่ายปัจจัยการผลิตของร้านค้าเพื่อให้เป็นไปตามที่กฏหมายกรมวิชาการเกษตรกำหนด จึงให้นโยบายกับกรมในการขยายเครือข่ายสารวัตรเกษตรอาสา ให้เพิ่มมากขึ้น
ขอฝาก "สารวัตรเกษตร" ทุกคนว่าเราพลิกโฉมปรับบทบาทกันใหม่ จากนี้ไปเราจะเป็นเพื่อนคู่คิดให้เกษตรกร ที่เกษตรกรอยากเข้ามาปรึกษาและสารวัตรเกษตรและอาสาสมัครก็จะช่วยอธิบายว่าสิ่งใดห้าม สิ่งใดใช้ได้ ต่างจากเดิมที่บทบาทเหมือนตำรวจออกตรวจจับผู้ร้าย
มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรสามารถทำได้ เพราะทำสำเร็จมาแล้ว คือ ผลงานของ ศวพ.3 ที่มีการปรับบทบาทจากปราบปราม มาเป็นเพื่อนคู่คิดสามารถสร้างสารวัตรเกษตรอาสาจากตัวแทนของเกษตรกรมาเป็นเครือข่ายได้มากถึงจำนวน 1,813 คนในช่วง 2-3 ปี และได้รับการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ นางสาวมนัญญา กล่าว
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เตรียมขยายผลโครงการสารวัตรเกษตรอาสา เพื่อให้เป็นเครือข่ายงานควบคุมตามพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ "สารวัตรเกษตร" ของกรมวิชาการเกษตร ต้องดำเนินการรับผิดชอบกำกับดูแลงานตาม พ.ร.บ.ต่าง ๆ ถึง 6 ฉบับ ในพื้นที่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 11 จังหวัด
มีร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรกว่า 6,000 ร้านค้า มีพนักงานเจ้าหน้าที่ "สารวัตรเกษตร" ในเขตพื้นที่นี้เพียง 43 คน กลุ่มควบคุมตาม พ.ร.บ.
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 โดยนายบุญช่วย สงฆนาม ผู้อำนวยการ ศวพ.กาฬสินธุ์ ได้ริเริ่มโครงการสารวัตรเกษตรอาสา จนประสบความสำเร็จ ร้านค้าหรือรถเร่ขายปุ๋ยด้อยคุณภาพ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นายบุญช่วย สงฆนาม ผอ.ศวพ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เริ่มโครงเมื่อปี 2560 เหตุจากข้อจำกัดเรื่องจำนวนคน จึงคิดว่าน่าจะเชิญผู้นำชุมชน ผู้นำ เกษตรกร กำนัน ผู้ใหญ่มาอบรมให้ความรู้ในเรื่องของ 1. กฏหมายของกรมเกี่ยวกับปุ๋ย ยา สารเคมีเกษตร 2.หลักวิธีการเลือกซื้อ 3.การเลือกซื้อจากร้านคุณภาพ 4.การตรวจสอบสินค้าด้วยตนเองผ่านระบบแอปพลิเคชันของกรมฯ ว่าสินค้าดังกล่าวปลอมหรือไม่ และ5.อย่าซื้อปุ๋ย ยา จากรถเร่ขายที่อวดสรรพคุณเกินจริง
ในช่วง 3 ปี อบรมได้สมาชิก 1,813 คน และทั้งหมดช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับกรมฯจนปัจจุบันมีผลสัมฤทธิ์ คือ รถเร่ในพื้นที่สีแดง คือ จุดที่มีรถเร่มากมีการร้องเรียนเยอะ ปัจจุบันไม่เกิดขึ้นอีก ดังนั้นเห็นว่าน่าจะเดินมาถูกทาง
สำหรับ 11 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร สกลนคร นครพนม หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ เลย และอุดรธานี
ในช่วงปี 2564 กรมวิชาการเกษตรมีการตรวจตามเบาะแส ข้อร้องเรียน สำหรับผู้ประกอบการที่ขออนุญาตและไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย วัตถุอันตรายและพันธุ์พืช
จับกุมดำเนินคดีข้อมูล ณ 28 ก.ย.64 รวม 4 จังหวัด 4 คดี รวมมูลค่า 5.7 ล้านบาทและในปี 2563 จำนวน 6 จังหวัด 15 คดี มูลค่า 51 ล้านบาท