ปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง (City Nature Challenge 2022) พบสิ่งมีชีวิตหายาก และใกล้สูญพันธ์มากกว่า 2,244 ชนิด
สำรวจธรรมชาติในเมือง ที่โดนมองข้าม ทำให้บางสิ่งบางอย่างถูกหลงลืมและถูกทำลายไปโดยไม่รู้ตัว ติดตามองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และเหล่าอาสาสมัครออกไปสำรวจเมืองกัน
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ Nature Plearn Club พร้อมด้วยการผนึกกำลังขององค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงอาสาสมัครที่ทำงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวิทยาศาสตร์พลเมือง จัดแถลงข่าวสรุปผลการสำรวจของ “กิจกรรมปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง (City Nature Challenge 2022)” ในการร่วมกันสำรวจ เก็บตัวอย่าง แล้วบันทึกผ่านแอปพลิเคชัน iNaturalist เพื่อเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ในเขตเมืองอย่างเป็นระบบ ที่มีผู้ร่วมสำรวจมากถึง 445 เมือง จาก 47 ประเทศทั่วโลก พบสิ่งมีชีวิตมากกว่า 50,176 ชนิด และรวมมากกว่า 2,244 ชนิดที่เป็นชนิดหายาก ใกล้สูญพันธุ์
ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า "อพวช. ให้ความสำคัญแก่เยาวชนและประชาชน ในการสร้างการมีส่วนร่วมและการปลูกฝังทักษะด้านวิทยาศาสตร์ และกระบวนการคิดของการเป็นนักวิทยาศาสตร์แก่สังคม โดยกิจกรรม City Nature Challenge 2022 ถือเป็นกิจกรรมลักษณะ Citizen Science (วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง) ทำให้เกิดความตื่นตัว และความสนใจด้านธรรมชาติวิทยา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สังเกตบันทึกข้อมูลได้ด้วยตนเองอย่างเป็นระบบในระดับคุณภาพงานวิจัย ผ่านแพลตฟอร์มเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน iNaturalist แบบไม่มีค่าใช้จ่าย"
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 อพวช. ส่งทีมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพืช แมลง สัตว์สะเทินน้ำ สะเทินบก ไส้เดือน ตะเข็บ ตะขาบ และหอยทาก ลงพื้นที่รวมกับภาคีเครือข่ายกลุ่มนักวิชาการด้านต่าง ๆ พร้อมเยาวชนร่วมสำรวจสวนสาธารณะใจกลางเมืองที่สวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ พบสิ่งมีชีวิตและได้บันทึกมากถึง 438 ครั้ง จำแนกเป็นชนิดต่าง ๆ ถึง 154 ชนิด สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของธรรมชาติที่อยู่ใกล้ตัว และสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนที่ร่วมสำรวจในการอนุรักษ์และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. ตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และการสนับสนุนการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่ประชาชน จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดงาน “ปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง (City Nature Challenge 2022 : CNC2022)” ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ได้มีการจัดงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมืองระยอง เมืองขอนแก่น เมืองเชียงใหม่ และเมืองหาดใหญ่ โดยในงานนี้ สวทช. ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านพืชและจุลินทรีย์จากธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) ไปร่วมเป็นวิทยากรนำสำรวจธรรมชาติในพื้นที่สวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา นอกจากนี้ สวทช. ยังได้สนับสนุนให้ประชาชนไทยเข้าถึงการใช้งานแอปพลิเคชัน iNaturalist ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยร่วมมือกับพันธมิตรพัฒนาคู่มือการใช้งานแอปพลิเคชันฉบับภาษาไทยขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และได้นำมาใช้เป็นคู่มืออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งในอนาคตจะใช้สนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป”
นายอุเทน ภุมรินทร์ กลุ่ม Nature Play and Learn Club หน่วยงานหลักที่ผลักดันกิจกรรมฯ กล่าวว่า “กิจกรรม City Nature Challenge 2022” จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 เป็นกิจกรรมระดับโลกที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกมากกว่า 445 เมือง ใน 47 ประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมสำรวจธรรมชาติในเมือง พร้อมเชื่อมโยงประชาคมเมืองให้เข้ากับระบบนิเวศในเขตเมืองที่ตนเองอยู่อาศัย หวังสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ธรรมชาติจากสิ่งใกล้ตัว
โดยประเทศไทยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2565 ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, เมืองระยอง, เมืองขอนแก่น, เมืองเชียงใหม่ และเมืองหาดใหญ่ แล้วทำการรวบรวมสรุปผลการสำรวจเพื่อนำไปประมวลผลการค้นพบความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้จากเขตเมืองกับเครือข่ายสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จากการสำรวจในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 284 คน จำนวนการสังเกต 7,756 ครั้ง พบสิ่งมีชีวิตจำนวน 2,109 (Species) ชนิด ซึ่งกิจกรรมฯ นี้ได้สร้างความตื่นตัว และความสนใจด้านธรรมชาติวิทยาให้ทุกคนได้สนุกกับการทดลองสังเกตบันทึกข้อมูลได้ด้วยตนเองที่สำคัญหลังจากที่เยาวชนและประชาชนได้ร่วมกิจกรรมนี้ ทุกคนจะได้มีเพื่อนที่สนใจในสิ่งที่เหมือนกัน และได้ร่วมทำกิจกรรมดี ๆ ด้วยกันอีกด้วย
สำหรับผลการสำรวจธรรมชาติในเมืองทั่วโลกของปี 2565 ได้ผลสรุปดังนี้ การสังเกตการณ์จากทั่วโลกจำนวน 1,694,877 ครั้ง จำนวนชนิดที่บันทึกได้มากกว่า 50,176 (Species) ชนิด และรวมมากกว่า 2,244 ชนิดที่เป็นชนิดหายาก ใกล้สูญพันธุ์ หรือถูกคุกคามในระดับสากลตามการจัดสถานภาพของ IUCN Red List (การประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในโลก) และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้จากทั่วโลก จำนวน 67,220 คน
ดร.กรรณิการ์ฯ เพิ่มเติมว่า “อพวช. หวังให้ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวิทยาศาสตร์พลเมือง เพื่อเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ในเขตเมืองอย่างเป็นระบบด้วยการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชนและประชาชนคนไทย ในการร่วมกันสำรวจ เก็บตัวอย่าง แล้วบันทึกผ่านแอปพลิเคชัน iNaturalist ต่อไป ถึงแม้กิจกรรมสิ้นสุดลงแต่การค้นพบความมหัศจรรย์ของสิ่งชีวิตไม่มีวันสิ้นสุดอย่างแน่นอน และข้อมูลเหล่านี้ก็สามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลของประเทศและของโลกได้เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองต่อไปได้ในอนาคต”
“กิจกรรม City Nature Challenge 2022” ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชนและองค์กรอิสระ อาทิ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มูลนิธิโลกสีเขียว, มูลนิธิรักสัตว์ป่า, กลุ่มบริษัทดาว และโครงการ Dow Thailand Mangrove Alliance, บริษัท ดีแคทลอน (ประเทศไทย) จำกัด, ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, เครือข่ายเยาวชนระดับโลกด้านความหลากหลายทางชีวภาพประจำประเทศไทย (GYBN Thailand), Nature Plearn Club, โครงการป่าชายเลนเพื่ออนาคต, เถื่อนChannel, และกลุ่มนก หนู งูเห่า
#CityNatureChallenge2022
#CNC2022TH