ข่าว

มนัญญา ย้ำ "วิจัยพืช" ต้องตอบโจทย์ตลาดควบคู่งานวิชาการเกษตร

มนัญญา ย้ำ "วิจัยพืช" ต้องตอบโจทย์ตลาดควบคู่งานวิชาการเกษตร

26 พ.ค. 2565

รมช. เกษตรฯ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ย้ำ "วิจัยพืช" ต้องตอบโจทย์ตลาดควบคู่งานวิชาการเกษตร ชู ศวพ.อุดรฯ วิจัยปาล์มน้ำมัน หนุนเศรษฐกิจเกษตร

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.เกษตรฯ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการทำงานศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี(ศวพ.อุดรฯ)กรมวิชาการเกษตรนั้น ได้ให้นโยบายว่า "งานวิจัย" ต้องตอบโจทย์ความต้องการใช้ของประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่เป็นหลัก ควบคู่ไปกับการวิจัย พัฒนาวิชาการของกรมฯ ที่เล็งเห็นว่าในพื้นที่มี "พืช" ใดที่เหมาะสมให้ผลตอบแทนสูง การป้องกันแมลงศัตรูพืชและปุ๋ยที่เหมาะสมกับ "ชนิดพืช" เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับการผลิตไปสู่ตลาดคุณภาพและการส่งออกให้ได้เร็วที่สุด โดยกรมต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับประชาชนเพื่อให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

 

สำหรับงานวิจัยที่สำคัญของ ศวพ.อุดรฯดำเนินการสำคัญ ๆ คือ มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ถั่วลิสงและบัวหลวง โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันเป็นพืชสร้างรายได้ให้เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและบริเวณจังหวัดริมแม่น้ำโขง

 

ปัจจุบัน ศวพ.อุดรฯ มีโครงการทดสอบและพัฒนาพืชพลังงานเพื่อผลิตไบโอดีเซลและเอทานอล โดยนำพันธุ์ปาล์มน้ำมันของกรมวิชาการเกษตทั้ง6 พันธุ์ คือพันธุ์สุราษฎร์ธานี 1-6  มาทดสอบปลูกเปรียบเทียบผลผลิตตั้งแต่ปี 2547- 57 จนพบว่าพันธุ์สุราษฏร์ 1,2,5  ให้ผลผลิตดี

 

และปี 62- 64 มีการวิจัยและขยายผลนวัตกรรมการผลิตปาล์มน้ำมันด้วยการจัดการที่เหมาะสมยกระดับผลผลิตโดยการจัดการสวนที่เหมาะสมระดับชุมชนตามศักยภาพพื้นที่ดำเนินการใน1 ชุมชนต้นแบบ 20 แปลง รวม 100 ไร่

 

      ตรวจเยี่ยม ศวพ.อุดรฯ

 

ศวพ.แนะนำการปลูกทุกขั้นตอน ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรกรเพิ่มจาก 2.04 ตันต่อไร่เป็น 2.43 ตันต่อไร่ บางไร่สูงถึง 3.42 ตันต่อไร่เฉลี่ยให้ผลผลิตสูงขึ้นร้อยละ 19-37 ต่อไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิประมาณ 7,272 บาทต่อไร่ (ราคาผลปาล์มราคา 5 บาทต่อกก.) หรือ 13,817 บาทต่อไร่เมื่อราคากก.ละ 9 บาท 

 

จะเห็นว่าการ "ปลูกพืช" เมื่อมีพันธุ์ดีและการแนะนำการปลูกตามหลักวิชาการจะให้ผลผลิตที่สูงขึ้น เช่น ปาล์มน้ำมันที่ผลผลิตสูงขึ้นถึงร้อยละ 19-37 ต่อไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งคือเป้าหมายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งกรมวิชาการ ต้องนำผลงานที่ดี ๆ แบบนี้ออกมาแสดงให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงสวนปาล์มหรือสวนเกษตรกรของตนเอง รวมถึง "พืช" อื่น ๆ  นางสาวมนัญญา กล่าว
 

รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุดรฯ ยังมีการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเบอร์ 4 และมะม่วงฟ้าลั่นเพื่อส่งออกเป็น "พืชเศรษฐกิจ" ที่สำคัญของพื้นที่ มีพื้นที่ปลูก 8,000 ไร่ ผลผลิต 6  พันต่อปี ได้รับการรับรองแปลงการผลิตที่ดี หรือ GAP จำนวน 201 แปลง จำนวน 1,945 ไร่  ซึ่งปี 2564  ส่งออกได้ถึง 1,800ตันหรือร้อยละ 30 ของผลผลิตโดยตลาดส่งออก อาทิ ประเทศญี่ปุ่น  เกาหลี จีน ลาว เวียดนาม

 

แต่ยังมีปัญหาสำคัญคือเพลี้ยไฟที่เป็นแมลงศัตรูพืช และการใช้ปัจจัยการผลิตที่ไม่เหมาะสมซึ่งได้กำชับให้ ศวพ.อุดรฯ ให้ดูแลเกษตรกรในประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อลดอุปสรรคดังกล่าวและให้ส่งเสริมเกษตรกรเพื่อเข้าสู่ระบบ GAP  ให้เพิ่มมากขึ้น 

 

รวมทั้งส่งเสริมการปลูกนอกฤดูและการปลูกตามแนวทางของแปลงเกษตรอัจฉริยะ(Smart Farm) ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีพื้นฐานตามแนวทางของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว ทั้งนี้ขอให้ร่วมกับเกษตรกรในการเก็บข้อมูลผลการดำเนินการในแปลงของเกษตรกรทั้งแปลงปกติและแปลงอัจฉริยะเพื่อให้มีผลการดำเนินการที่รายงานที่เป็นรูปธรรม สามารถวัดผลการดำเนินการให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาดูชุดข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรายอื่น ๆ

 

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากงานวิจัยแล้ว ล่าสุดกรมได้มีนโยบายที่จะให้นำสวนยางพารา ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นเข้าโครงการคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอีกทางหนึ่ง

 

เบื้องต้นได้หารือกับ ศวพ.หนองคายซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 69,588 ไร่ เพื่อหาแนวทางที่จะนำพื้นที่สวนยางพาราในจังหวัดเข้าโครงการดังกล่าว