ข่าว

"อูจี๋อิง" ผู้รอดชีวิตเหตุ "สังหารหมู่หนานจิง" เสียชีวิตแล้ววัย 98 ปี

"อูจี๋อิง" ผู้รอดชีวิตเหตุ "สังหารหมู่หนานจิง" เสียชีวิตแล้ววัย 98 ปี

27 พ.ค. 2565

"อูจี๋อิง" หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุ "สังหารหมู่หนานจิง" เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 98 ปี ทำให้เหลือผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้ลดลง

หนานจิง,ซินหัว - "อูจี๋อิง" ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ "สังหารหมู่หนานจิง" เสียชีวิตด้วยวัย 98 ปี เมื่อเช้าวันพุธ (25 พ.ค.) ที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันยอดผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ขึ้นทะเบียนกับทางการจีนลดลงเหลือ 56 คน
 

สำหรับประวัติเบื้องต้นของ "อูจี๋อิง" ระบุไว้ว่า เธอถูกขายให้ครอบครัวหนึ่งในนครหนานจิง เพื่อเป็นสาวใช้ตอนอายุเพียง 10 ปี และขณะเกิดเหตุการณ์ สังหารหมู่หนานจิง อูถูกทหารญี่ปุ่น 2 นาย แทงขาขวา โดยเธอรอดชีวิตด้วยการแกล้งตาย ท่ามกลางซากศพในบ้านหลังหนึ่ง ต่อมาพ่อที่แท้จริงของอูพบตัวเธอ ทั้งสองจึงเดินทางกลับบ้านเกิด ซึ่งอยู่ห่างจากหนานจิงราว 50 กิโลเมตร โดยอูยังได้แต่งงานและมีลูก 6 คน

อูจี๋อิง

 

ทั้งนี้ เหตุการณ์ สังหารหมู่หนานจิง เกิดจากกองกำลังทหารญี่ปุ่นที่ยึดครองเมืองหนานจิง ได้เข่นฆ่าพลเรือน และทหารไร้อาวุธชาวจีนราว 3 แสนราย ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ป่าเถื่อนที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง

ด้านสภานิติบัญญัติสูงสุดของจีน กำหนดให้วันที่ 13 ธ.ค. เป็นวันรำลึกถึงเหยื่อของเหตุการณ์ สังหารหมู่หนานจิง ในระดับชาติตั้งแต่ปี 2014 และรัฐบาลจีนรวบรวมคำบอกเล่าจากผู้รอดชีวิตในรูปแบบเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรและคลิปวิดีโอ ซึ่งยูเนสโก (UNESCO) จัดให้บันทึกเหล่านั้นอยู่ในโครงการความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World Register) เมื่อปี 2015

อูจี๋อิง

 

การสังหารหมู่หนานจิง หรือรู้จักกันในนามการข่มขืนกระทำชำเราหนานจิง เป็นการสังหารหมู่ และการข่มขืนกระทำชำเรายามสงคราม (war rape) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลาหกสัปดาห์ หลังญี่ปุ่นยึดนครหนานจิง อดีตเมืองหลวงของสาธารณรัฐจีน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 1937 ระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ในช่วงนี้ พลเรือนและทหารจีนที่ถูกปลดอาวุธหลายแสนคนถูกทหารกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นฆ่า ทั้งยังเกิดการข่มขืนกระทำชำเรา และฉกชิงทรัพย์อย่างกว้างขวาง นักประวัติศาสตร์และพยานประเมินว่า มีผู้ถูกฆ่าระหว่าง 250,000 ถึง 300,000 คน ผู้ก่อการสังหารหมู่หลายคน ซึ่งขณะนั้นถูกตราว่า เป็นอาชญากรรมสงคราม ภายหลังถูกไต่สวนและตัดสินว่ามีความผิด ณ ศาลชำนาญพิเศษอาชญากรรมสงครามนานกิง และถูกประหารชีวิต

 

ในการนี้ เจ้าชายยาซูฮิโกะ อาซากะ พระอนุวงศ์ญี่ปุ่น อันเป็นผู้ก่อการสำคัญคนหนึ่ง ทรงรอดจากการฟ้องคดีอาญา เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรได้ให้ความคุ้มครองไว้ก่อน

 

 

ที่มา ซินหัว  วิกิพีเดีย