"ฝีดาษลิง" เช็คอาการชัด ๆ ผื่นแบบไหนใช่เลย ผื่นแบบไหนเป็น อีสุกอีใส หรือโรคอื่น ใกล้เคียงจนแยกยาก แต่ก็แยกได้
"โรคฝีดาษลิง" ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศของภูมิภาคยุโรปอยู่ในขณะนี้ แม้จะยังไม่เข้าประเทศไทย แต่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ได้มีการเฝ้าระวัง ประกาศให้ "ฝีดาษลิง" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง
"ฝีดาษลิง" ในความเป็นจริงแล้ว โรคนี้ติดต่อกันได้ยากมาก ต้องอาศัยการสัมผัสทางผิวหนังระหว่างบุคคลต่อบุคคลเป็นเวลานาน แม้แต่เด็ก ๆ ในพื้นที่
ห่างไกลของแอฟริกา ที่เคยมีการระบาดของฝีดาษลิง ก็ยังไม่ค่อยจะติดโรคนี้กันเท่าใดนัก ในปัจจุบันผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังมีจำนวนน้อย ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่
สามารถเบาใจได้ว่า โอกาสติดเชื้อนั้นต่ำกว่าที่คิดกันมาก
แต่หากยังไม่คลายความกังวลสงสัย เพราะ "ฝีดาษลิง" กับโรคอีกหลายชนิด มีลักษณะของตุ่มและผื่นบนผิวหนังคล้ายกันมาก แพทย์อังกฤษมีคำแนะนำให้สังเกตผื่นดังกล่าว รวมทั้งอาการร่วมอื่น ๆ ดังนี้
ฝีดาษลิง
อาการติดเชื้อฝีดาษลิงขั้นต้นนั้น ไม่ต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไป โดยจะรู้สึกอ่อนเพลีย เป็นไข้ ไม่สบายตัว ซึ่งบ่งบอกถึงระยะแรกที่เชื้อไวรัสบุกเข้าไปในเซลล์ของผู้ป่วย ในเวลาต่อมา ต่อมต่าง ๆ ในร่างกายจะเริ่มบวมขึ้น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันระดมกำลังต้านทานการติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดตุ่มและผื่นตามตัว ซึ่งจะเริ่มจากผิวหนังกลายเป็นสีแดง และยกตัวนูนขึ้น จากนั้นจะเกิดของเหลวสีขาวข้นคล้ายหนองอยู่ภายใน ซึ่งตุ่มของเหลวนี้จะแตกออกเป็นแผลในเวลาต่อมา และในท้ายที่สุดมันจะแห้งตกสะเก็ดจนหลุดออกไปได้เอง
ดร. โรซามันด์ ลูอิส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การที่ผื่นจากฝีดาษลิงมีลักษณะและความเปลี่ยนแปลงคล้ายกับโรคอีสุกอีใสเช่นนี้ ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยากมาก แต่ผื่นของฝีดาษลิงนั้น มักจะเริ่มเกิดขึ้นบนใบหน้าหรือภายในช่องปากก่อน แล้วจึงกระจายไปยังแขนขา รวมทั้งมือเท้าและส่วนแขนงต่าง ๆ ของร่างกาย
ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงที่พบใหม่บางราย มีผื่นขึ้นแถบอวัยวะเพศ ทำให้สังเกตเห็นได้ยาก เพราะอยู่ในจุดซ่อนเร้น ผื่นจะมีลักษณะต่างออกไปเล็กน้อย ในกลุ่มคนที่สีผิวต่างกัน ทำให้สำนักงานความปลอดภัยทางสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) ออกคำเตือนว่า หากพบแผล หรือความเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่ดูผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณอวัยวะเพศ ให้ปรึกษาสายด่วนสุขภาพ หรือพบแพทย์เพื่อตรวจสอบในทันที
ระยะเวลาฟักตัว
หลังการได้รับเชื้อ ไวรัสจะอยู่ในต่อมน้ำเหลือง และใช้เวลาฟักตัว 7-21 วัน จึงแสดงอาการ โดยอาการจะเริ่มจากการมีไข้ และต่อมน้ำเหลืองโต 1-2 วัน จึงมีผื่น ผู้ป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่มีไข้ โดยผื่นจะเริ่มจากมีแผลในปาก จากนั้นจะเริ่มมีผื่น ขึ้นที่ตัว หน้า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า โดยผื่นจะมีขนาด 2-10 มิลลิเมตร ในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา ผื่นจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากผื่นนูนแดง เป็นตุ่มน้ำ แล้วจึงเป็นฝี โดยผื่นจะเปลี่ยนรูปแบบพร้อม ๆ กัน ทั่วทั้งตัว หลังตุ่มหนองแตกจนแห้งดี ผู้ป่วยก็จะอาการดีขึ้น และหมดระยะในการแพร่กระจายให้ผู้อื่น
ดังนั้น หากมีผื่นขึ้นตามร่างกาย อย่าตื่นตระหนกตกใจจนเกินเหตุ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าจะไม่ใช่ฝีดาษลิง แต่อาจเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้ง่ายกว่าดังต่อไปนี้
อีสุกอีใส
ตามปกติแล้วผื่นจากอีสุกอีใสจะคันมาก แต่ก็จะเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปตามระยะต่าง ๆ เหมือนฝีดาษลิง จนตกสะเก็ดหลุดออกไปในที่สุด คนเราสามารถเป็นอีสุกอีใสได้มากกว่าหนึ่งครั้งในชีวิต และอาจเป็นซ้ำได้ในวัยผู้ใหญ่ แม้จะเคยป่วยด้วยโรคนี้มาแล้วในวัยเด็กก็ตาม การที่เชื้อไวรัสอีสุกอีใสถูกกระตุ้นให้กลับมาออกฤทธิ์อีกครั้ง ทำให้เกิดผื่นและตุ่มคล้ายสิวที่เจ็บมากได้
หิด
โรคหิดเกิดจากตัวไรที่วางไข่ในผิวหนัง ทำให้มีอาการคัน และผิวหนังเป็นผื่นแดง ซึ่งส่วนใหญ่ผื่นมักจะเกิดขึ้นตามง่ามนิ้วก่อน แต่ก็ปรากฏได้ทั่วไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นเป็นจุดและแนวเส้นสีแดงบนผิวหนัง โรคหิดนั้นแม้มีอาการไม่ร้ายแรงนัก แต่ติดต่อกันง่ายมาก และจำเป็นต้องรีบรักษาโดยด่วน
ตัวเรือดและแมลงกัดต่อย
หากที่นอน เบาะรองนั่ง หรือพรมในบ้านมีตัวเรือดอยู่ คุณอาจถูกแมลงตัวเล็กจิ๋วที่มองไม่เห็นนี้กัดเอา จนเกิดเป็นผื่นแดงขึ้นได้เช่นกัน ผื่นนี้จะคันและเจ็บมาก แต่จะมีลักษณะที่เกาะกันเป็นกลุ่ม หรือแนวเส้นตรง มากกว่าจะแผ่กระจายเป็นปื้นหรือวงกว้าง
ลมพิษและผื่นจากอาการแพ้
ผื่นลมพิษที่แสนจะเจ็บและคันนั้น เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งที่มันคิดว่าเป็นอันตราย แม้หลายครั้งแพทย์จะหาไม่พบว่าสิ่งกระตุ้นที่ทำให้คนไข้แพ้คืออะไร แต่โดยทั่วไปแล้ว มักเกิดจากการกินอาหาร ยา หรือสัมผัสเข้ากับพืชและสารเคมีต่าง ๆ
โรคมือเท้าปาก
เกิดจากติดเชื้อไวรัสที่มากับการไอและจาม รวมทั้งการสัมผัสของใช้ในบ้านเช่นช้อนส้อมหรือมีด ทำให้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่จะเกิดแผลเปื่อยในปาก รวมทั้งเกิดผื่นแดงบนฝ่ามือและฝ่าเท้า โรคนี้จะหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา