ลูกสาวคาใจ "รพ.เอกชน" ผ่าตัดสมองพ่อ นำชิ้นส่วนกะโหลกใส่ถุงให้ไปแช่เย็นเอง
ลูกสาวคาใจ ร้อง "ทนายตั้ม" พ่อเกิดอุบัติเหตุเลือดคั่งในสมอง หมอ "รพ.เอกชน" ผ่าตัดก่อนนำชิ้นส่วนกะโหลกใส่ถุงพลาสติก ให้ญาตินำกลับไปแช่ตู้เย็นที่บ้าน
27 พ.ค.2565 ที่สำนักงานทนายความ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม นางสาวภัทร์สุดา (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี พร้อมด้วย นายอภิชัย สามี เดินทางเข้าพบ นายษิทรา หรือ ทนายตั้ม เพื่อปรึกษา กรณีที่ นายอดุลย์ บิดา นางสาวภัทร์สุดา ประสบอุบัติเหตุ ขี่รถจักรยานยนต์ชนท้ายรถกระบะ แล้วเข้ารับการรักษาโดยการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
ซึ่งหลังผ่าตัดแล้วเสร็จ พยาบาลได้นำชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะบรรจุในถุงพลาสติกรัดหนังยาง โดยมีสติกเกอร์ระบุชื่อคนไข้ ประวัติทั่วไป และแพทย์ผู้ผ่าตัดแปะอยู่บนถุงดังกล่าวมาให้ญาตินำกลับไปเก็บรักษาเองที่บ้าน โดยไม่มีบรรจุภัณฑ์เก็บรักษาตามมาตรฐานให้มาด้วย สร้างความคาใจกับทางญาติว่า ทำไมโรงพยาบาลจึงไม่เก็บรักษาอวัยวะของผู้ป่วยไว้ให้
นางสาวภัทร์สุดา และนายอภิชิต เปิดเผยว่า บิดาตนเองประสบอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แพทย์โรงพยาบาลเอกชน ดังกล่าวได้ทำการผ่าตัดสมองบิดาของตนหลังเกิดเหตุทันที เนื่องจากศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน มีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ซึ่งหลังผ่าตัด แพทย์แจ้งว่า อาการพ้นขีดอันตรายแล้ว จากนั้นพยาบาลก็ได้นำชิ้นส่วนกระโหลกของนายอดุลย์ บิดา ใส่ถุงพลาสติก มาให้ตนนำไปเก็บเอง โดยบอกแค่เพียงว่าเผื่อไว้ใช้งาน
นางสาวภัทร์สุดา กล่าวอีกว่า ตนจึงนำไปเก็บไว้ในช่องแช่แข็งในตู้เย็นที่บ้าน อยู่ถึง 2 วัน ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ จึงติดต่อไปสอบถามกับทางโรงพยาบาลว่า ทำไมญาติต้องนำชิ้นส่วนอวัยวะของญาติไปเก็บไว้เองด้วย และได้มีการโต้เถียงกับแพทย์ที่ดูแลอาการของพ่อ ในห้องไอซียู ก่อนที่แพทย์จะบอกว่าให้นำชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะกลับมาคืนเพื่อเก็บที่โรงพยาบาล
จากนั้นจึงนำกะโหลกศรีษะของบิดามาคืนในวันที่ 23 ก.พ. รุ่งขึ้นวันที่ 24 ก.พ.บิดาก็มาเสียชีวิต ทำให้บรรดาญาติไม่พอใจว่าการที่ไปโต้เถียงกับแพทย์ผู้รักษาเป็นสาเหตุให้แพทย์ไม่ดูแลจนทำให้บิดาต้องเสียชีวิต จึงมาปรึกษาทางกฏหมายกับนายษิทรา ว่ากรณีดังกล่าวเป็นวิธีการโดยทั่วไปของโรงพยาบาลเกี่ยวกับการเก็บรักษาชิ้นส่วนอวัยวะของผู้ป่วยหรือไม่ เพราะการเก็บชิ้นส่วนอวัยวะต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม รวมทั้งบรรจุภัณฑ์และตู้แช่เย็นที่ปลอดเชื้อ ซึ่งทางโรงพยาบาลที่ทำการรักษาก็ไม่ได้บอกรายละเอียดวิธีการใด ๆ เลย
อย่างไรก็ตาม ญาติจึงอยากให้โรงพยาบาลชี้แจงว่า การให้ญาตินำชิ้นส่วนอวัยวะของผู้ป่วยไปเก็บเอง มีนโยบายเช่นนี้จริงหรือไม่ เพราะคาใจว่าทำไมทางโรงพยาบาลจึงไม่เก็บรักษาไว้เองทั้งที่มีอุปกรณ์ที่พร้อมกว่า แต่ยังไม่มี ความประสงค์ที่จะเอาผิดหรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับทางโรงพยาบาลแต่อย่างใด
นายษิทรา "ทนายตั้ม" เปิดเผยว่า จากการสอบถามแพทย์ จากโรงพยาบาลอื่นทราบว่า การเก็บชิ้นส่วนอวัยวะของผู้ป่วยนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงพยาบาล แต่ส่วนใหญ่ทางโรงพยาบาลจะเก็บไว้เอง เพราะรู้วิธีการและมีอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานกว่าให้ญาตินำไปเก็บไว้เองที่บ้าน