"โรคฝีดาษลิง" หมอเตือนกลุ่มนี้ เสี่ยงสูง หลังเกิดคลัสเตอร์ในสเปน
"โรคฝีดาษลิง" แพทย์เตือน คนกลุ่มนี้ เสี่ยงติดเชื้อหากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ระวัง หลังเกิดคลัสเตอร์ในประเทศสเปน
อัปเดตสถานการณ์ การแพร่ระบาดของ "โรคฝีดาษลิง" หรือ ฝีดาษวานร (Monkeypox) ที่กำลังลุกลามในประเทศแถบยุโรป แม้จะยังไม่ระบาดในประเทศไทย และเป็นแล้วสามารถหายเองได้ แต่ก็ไม่ควรประมาท โดยเฉพาะข้อมูลล่าสุดพบว่า "ฝีดาษลิง" แพร่ระบาดจากกลุ่ม ชายรักชาย
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย วิเคราะห์ว่า ฝีดาษลิง มีแนวโน้มเข้ามาระบาดในไทย เนื่องจากมีการเปิดประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวบางรายเข้ามาในระยะที่เชื้อฟักตัว และมีความเสี่ยงจะนำเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดในไทย
จากข้อมูลในต่างประเทศ มีการยืนยันว่า คนที่มีการปลูกฝี จะสามารถป้องกันโรคนี้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ภูมิคุ้มกันจะลดลงหลังฉีดวัคซีนแล้วในระยะเวลาหนึ่ง โดยคนที่ฉีดแล้วจะช่วยบรรเทาให้ไม่มีอาการร้ายแรง แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ไทยยกเลิกการปลูกฝีในเด็กไปนานแล้ว ดังนั้น คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีโอกาสในการปลูกฝี มีโอกาสเสี่ยงจะติดจนมีอาการร้ายแรงได้ การจะนำเข้าวัคซีนที่ใช้ในการปลูกฝีแบบเก่ามาใช้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็น มีผลข้างเคียงต่อคนที่ฉีดสูง ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด ต้องรอการคิดค้นวัคซีนใหม่ ที่เหมาะสมกับเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ และเหมาะสมกับมนุษย์มากที่สุด
แม้การป้องกันทำได้ด้วยการกักตัวผู้ป่วยไม่ให้มีการแพร่เชื้อผ่านสารคัดหลั่ง แต่ในหลายกรณีพบว่า ตุ่มที่ขึ้นบนผิวหนังในระยะการฟักตัว จะขึ้นบริเวณอวัยวะเพศภายในร่มผ้า ทำให้สังเกตอาการได้ยาก
"ปกติเชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะฟักตัวประมาณ 2 วัน ก่อนพัฒนาจากตุ่มแดงบนผิวหนัง เป็นตุ่มใส และมีหนอง ก่อนตุ่มนั้นจะแตก หากมีการสัมผัสหนอง จะทำให้ได้รับเชื้อต่อได้ โดยอาการของโรคจะเป็นประมาณ 2-3 อาทิตย์ ก่อนหายไปเอง"
ยกตัวอย่างประเทศสเปน มีการแพร่ระบาดในกลุ่มชายรักชาย เพราะเมื่อมีเพศสัมพันธ์ จะมีสารคัดหลั่งที่เป็นตัวแพร่เชื้อ ทำให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ ดังนั้นประเทศไทย ควรมีการเฝ้าระวัง สังเกตอาการในกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืน ที่มีโอกาสติดเชื้อได้
แต่อยากเตือนประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนก เพราะโรคนี้สามารถสังเกตอาการผู้ป่วยได้ จากตุ่มบนผิวหนัง ควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบโรค และกักตัวหากติดเชื้อ ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานจะมีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง และเมื่อถึงเวลานั้นจะต้องพาลูกหลานไปฉีดเพื่อป้องกันไว้ก่อน
ขณะเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีการรักษา "โรคฝีดาษลิง" ที่เฉพาะเจาะจง แต่ควบคุมการระบาดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้ มีการฉีดวัคซีน หรือปลูกฝี จะช่วยป้องกันทั้ง 2 โรค ซึ่งเด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค รายงานว่า แนวทางการป้องกัน โรคฝีดาษลิง จะต้องหมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก กินอาหารปรุงสุก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือดน้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่สงสัยป่วยหรือมีประวัติเสี่ยง.