ไม่เดือดร้อนเหรอ"งบฯ66"ศธ.ถูกหั่นมากที่สุด กระทบเด็กไม่มีครูสอน
ศธ.ถูกหั่น"งบฯ66"มากที่สุด "ดะนัย มะหิพันธ์" ส.ส.อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย ตั้งคำถาม รมต.ศึกษาฯและผู้บริหารไม่เดือดร้อนเหรอ กระทบเด็กไร้ครู ชาวบ้านต้องทอดผ่าป่าจ้างครูมาสอน ช่วย ร.ร.ขนาดเล็ก
วันที่ 1 มิถุนายน 2565 การประชุมสภาฯ อภิปราย ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.5 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 78.2% และรายจ่ายลงทุน 21.8% เป็นการอภิปราย งบฯ66 เป็นวันที่ 2 ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนสภาราษฎร อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) กรุงเทพฯ นั้น
นายดะนัย มะหิพันธ์ ส.ส. เขต 2 อำนาจเจริฐ พรรคเพื่อไทย อภิปรายฯชำแหละงบประมาณปี2566 ของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ว่ากระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่ถูกตัดงบประมาณปี2566 มากที่สุดประมาณ 7,800ล้านบาท แต่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่ม ซึ่งในส่วนของสธ.ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มนั้นตนไม่ติดใจ ยอมรับบุคลากรสธ.ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารับเคราะห์หนักจากโควิด-19 คนเหล่านี้เป็นเพียงลูกจ้างได้รับการบรรจุก็ดีใจด้วย
กระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรร งบฯ66 เพิ่มประมาณ 2,400 ล้านบาท ไม่เข้าใจว่าประเทศไทยไม่มั่นคงตรงไหน ถึงจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณ เพิ่มจำนวนบุคลากร มีเหตุจำเป็นอะไร และตนก็ไม่ทราบว่าประเทศไทยมีนายพลมากที่สุดจริงหรือไม่ แต่กระทรวงศึกษาฯ น่าเห็นใจที่สุดกลับถูกหั่นงบฯ66
“ศธ.เป็นกระทรวงที่น่าเห็นใจมากที่สุด ถูกลดงบประมาณ 7800 ล้านบาท ผมถามว่ารัฐมนตรีศึกษา ผู้บริหารระดับสูงศธ.ท่านไม่รู้สึกร้อนรู้หนาว ไม่เดือดร้อนเหรอครับ กับการจัดสรรงบประมาณปี2566 เกิดอะไรขึ้นรู้มั๊ยเมื่อศธ.ถูกหั่นงบฯ66 ผมได้รับข้อมูลว่าการแก้ไขปัญหาของศธ. โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จะยุบร.ร.ขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูู จากนโยบายเมื่อครูเกษียณไม่คืนตำแหน่ง ไม่บรรจุครูทดแทน นี่คือการแก้ไขปัญหาของผู้บริหารศธ.หรือ”
เฉพาะพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เพียงไม่กี่อำเภอ มีสถานศึกษา130 โรงเรียน มีเด็กนักเรียนจำนวน 15,800 คน ในจำนวนนี้ มี 20 โรงเรียนขาดแคลนครู ปี 2565 ชาวบ้านต้องทอดผ้าป่าการศึกษา เพื่อนำเงินมาจ้างครูสอนเด็ก บางโรงเรียนเหลือครู 1 คน ไม่มีภารโรง ไม่มีเจ้าหน้าที่ธุรการ หรือครูธุรการ ชาวบ้านที่พบปัญหากับลูกหลานของเขาทนไม่ได้ อยากรักษา บ้าน วัด โรงเรียน ชาวบ้านไม่อยากให้โรงเรียนล่มสลายก็ทำผ้าป่าหาเงินมาจ้างครู
" ผมไปร่วมทอดผ้าป่าการศึกษาทุกโรงเรียนผมถามชาวบ้านว่าต้องหาเงินเท่าไหร่ถึงจะพอจ้างครูมาสอนหนังสือเด็ก ชาวบ้านบอกกับผมว่าอย่างน้อยต้องได้ 100,000 บาท เพื่อจะได้จ้างครูได้ 2 คน แม้ชาวบ้านจะยากลำบาก แต่ด้วยความรักในโรงเรียน และสงสารเด็ก บางโรงเรียนมีเด็ก 20-30 คน เป็นเด็กในหมู่บ้าน บางโรงเรียนทอดผ้าป่าได้ 8 หมื่นบาท ได้แสนบาท ก็นำมาจ้างครูเดือนละ 3-4 พันบาท แล้วแต่เงินผ้าป่าที่ได้มา"
เป็นที่น่าสังเกต จากนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เรียนจบปริญญาตรีรับเงินเดือน 20,000 บาท นั้นไม่มีอยู่จริง เพราะครูที่ชาวบ้านจ้างมาสอน ร.ร.ขนาดเล็ก รับเงินเดือนละ 3-4 พันบาทเท่านั้นและครูแต่ละคนก็เรียนจบปริญญาตรีทั้งหมด ทำไมศธ.และสพฐ.ไม่ดูแลเด็กไม่ดูแลครู และร.ร.ขนาดเล็ก
ที่น่าตกใจ สพฐ.จะเขียนไว้ในแผนพัฒนาทุกแผนงานว่า เป็นเงินค่าจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ซึ่งหมายถึง ครูธุรการ นักการภารโรง ฯลฯ แฝงไว้ในงบพัฒนาฯ สพฐ.ทำแบบนี้ความเชื่อมั่นอยู่ที่ไหน มีการทำสัญญาเดือนต่อเดือน ผมสงสาร คนเหล่านี้เขาทำงานเต็มกำลังความสามารถ
“แต่ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำลังพิจารณาในขั้นตอนคณะกรรมาธิการ มีมาตราหนึ่งกำหนดเอาไว้ว่า ครู ต้องสอนอย่างเดียว ครูจะทำหน้าที่อย่างอื่นไม่ได้ ในโรงเรียนต้องมีเจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่การเงิน เจ้าหน้าที่พัสดุ เจ้าหน้าที่สนับสนุนการสอน หากร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับนี้ผ่านจะทำอย่างไร เมื่อศธ.ไม่ได้ตั้งงบฯ66 เอาไว้ จะเอาเงินที่ไหนมาจ้างคนกลุ่มนี้ ผมไม่เข้าใจในการจัดตั้งงบประมาณปี2566 ฝากท่านประธานถึงรมว.ศึกษาธิการ และผู้บริหารศธ.วันนี้ท่านคิดอะไรอยู่ ฝากถึงเพื่อนครู ต่อไปนี้ความน่าเชื่ออาจจะน้อยลง ฝากถึงประชาชนจะส่งลูกเรียนต้องดูยุทธศาสตร์ชาติ จะให้ลูกเรียนครู หรือ เป็นทหารถึงจะเจริญ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรงบประมาณปี2566 จำนวน 325,900.2 ล้านบาท ร้อยละ 10.2 ของวงเงินงบประมาณ ลดลงจากปีก่อน -4,526.4 ล้านบา หรือ ร้อยละ -1.4 ของวงเงินงบประมาณ แต่กระทรวงศึกษาธิการยังจัดได้ว่าเป็น 1 ใน10 กระทรวงที่ได้รับงบประมาณปี2566 มากที่สุด