"ฝีดาษลิง" เปิดวิธีแยกแผลปลูกฝี แบบไหนเป็น ฝีดาษ แบบไหนเป็น "วัณโรค"
หมอยง เปิดวิธีแยกแผลเป็นจากการปลูกฝี ฝีดาษ และแผลจากวัคซีน "วัณโรค" หลัง "ฝีดาษลิง" มีการระบาด ระบุ ไทยเลกปลูกฝี ตั้งแต่ปี 2523
หลังจากที่มีการระบาด "ฝีดาษลิง" ในหลายประเทศทางยุโรปและอเมริกา ได้เริ่มมีการพูดถึงการ ปลูกฝี ซึ่งในประเทศไทยเคยมีการปลูกฝีด้วยเช่นกัน ซึ่งได้ยกเลิกไปนานแล้ว โดย "หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก Yong Poovorawan ถึงเรื่องนี้ว่า
ผมเองจบแพทย์ในปี พ.ศ. 2517 และได้เรียนทางเด็กต่อ ในปี พ.ศ. 2518 ก็ไม่ได้มีการปลูกฝีในโรงพยาบาลจุฬาฯ แล้ว หลานผมเกิดในปี 2518, 2520 และลูกเกิด มกราคม 2523 ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคอย่างเดียว ไม่ได้ปลูกฝีแล้ว ดังแสดงในรูป
ผมอยู่ในเหตุการณ์ตลอด และยังได้เคยปลูกฝีให้กับเด็กด้วยในช่วงจบใหม่ๆ ยังจำได้ มาทำคลินิกแถวตรอกจันทร์ ในปี 2521 คนจีนมักจะถามว่าทำไมเดี๋ยวนี้ไม่ปลูกฝีแล้วหรือ การปลูกฝีเป็นที่ยอมรับของคนจีนเป็นอย่างมาก
อเมริกาและยุโรป เลิกปลูกฝีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ต้น หรือประมาณ 2513 ถึง 2514 ประเทศไทยเลิกปลูกฝีในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ประมาณปี 2517 ถึง 2518 แต่ขณะนั้นยังเลิกไม่ได้เด็ดขาด แต่การปลูกลดน้อยลงมาก เพราะไม่มีโรคฝีดาษในประเทศไทยมานานมาก ให้ดูแผลเป็นที่หัวไหล่ ถ้ามีการปลูกฝีและป้องกันวัณโรค จะมี 2 แผลเป็น
ประเทศสุดท้ายที่มีโรคฝีดาษ คือประเทศโซมาเลีย ในปี พ.ศ. 2520 และองค์การอนามัยโลกประกาศยกเลิกการปลูกฝีและถือว่าได้กวาดล้างโรคฝีดาษให้หมดไปแล้วในปี 2523 ทั่วโลกจึงได้มีการยกเลิกการปลูกฝีอย่างเป็นทางการ
ประชากรในยุโรปและอเมริกาที่อายุเกินกว่า 50 ปี จึงไม่ได้รับการปลูกฝี ส่วนสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเลิกปลูกฝี มาประมาณ 40 ปี ประเทศไทยเลิกก่อน โดยเริ่มตั้งแต่ปีพศ 2517 และไปเลิกเด็ดขาดตามองค์การอนามัยโลก ในปี 2523
ข้อมูลและภาพ จาก FB Yong Poovorawan