ข่าว

"จิตภัสร์ กฤดากร" วอน กมธ.งบฯพิจารณา "งบประมาณ 66" เพื่อเด็ก

"จิตภัสร์ กฤดากร" วอน กมธ.งบฯพิจารณา "งบประมาณ 66" เพื่อเด็ก

02 มิ.ย. 2565

"จิตภัสร์ กฤดากร" ปชป. อึ้งรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า1,300 บาทต่อคนต่อเดือน มีถึง1.3ล้านคน แต่การการศึกษาที่ดี ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม วอน กมธ.งบฯพิจารณา "งบประมาณ 66" จัดสรรให้เด็กในถิ่นทุรกันดาร เด็กด้อยโอกาส

วันที่ 2 มิ.ย. 2565 ในการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วาระที่1 น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า จากการจัดทำงบประมาณรัฐบาลปี2566 หรือ งบประมาณ 66 ยังคงให้มีนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณโดยให้ความสำคัญเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำ ตนขอเน้นย้ำถึงความเสมอภาคทางการศึกษา และเป็นกระบอกเสียงแทนเด็กๆในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลความเจริญ รวมถึงเด็กด้อยโอกาสจะได้มีโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง มีความรู้คู่จริยธรรม เพื่อที่จะให้เด็กๆเหล่านั้น ได้มีโอกาสเติบโตขึ้น เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป 

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือ ความพร้อมทางด้านการศึกษา ที่ส่งผลทวีคูณต่อความพร้อมของการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งก็คือ การศึกษาดีจะนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ดี ความพร้อมทางการศึกษาของเด็กนั้น หมายถึง สุขภาพของเด็ก อารมณ์ สติปัญญา 

ความยากจนเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดโภชนาการที่ดีและขาดการดูแลจากครอบครัวเพราะต้องดิ้นรนทำมาหากิน ดังนั้นเด็กยากจนจึงขาดพัฒนาการที่ดี เมื่อเข้าสู่วัยเรียนเด็กๆเหล่านี้มีโอกาสมากที่จะเรียนไม่จบ แม้จะเป็นเพียงการศึกษาภาคบังคับเท่านั้น รวมทั้งขาดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีอีกด้วย

 

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่า ปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยมีเด็กนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มยากจนพิเศษ ซึ่งครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1,300 บาทต่อคนต่อเดือน จำนวนสูงถึง 1.3ล้านคน หรือเกือบเท่ากับจำนวนประชากรในเขตอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา กระบี่ และ ตรัง

 

ขณะที่ในมุมของครูผู้ให้การศึกษา ประเทศไทยก็มีสัดส่วนอัตราส่วนของครู 1 คน ต่อนักเรียน 19 คน ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานโลกถึงสองเท่าและโรงเรียนประจำซึ่งต้องดูแลนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ครู ตชด.จะต้องอยู่กับเด็กนักเรียนตลอดเวลา ในถิ่นทุรกันดาร ทำงานหนักกว่า 4 เท่า จึงเกิดความเครียดและความเหนื่อยล้าสะสม

ปัจจัยที่กล่าวมานี้ล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพของครูและส่งผลตรงต่ออนาคตของลูกหลานเราทั้งสิ้น ประเทศไทยมีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายสำหรับการบริหารจัดการโรงเรียนเพื่อดูแลด้านการศึกษา โดยคิดจาก “ค่าใช้จ่ายเป็นรายหัว” ซึ่งเรื่องนี้เป็นการสร้างปัญหาต่อคุณภาพการศึกษา เพราะเกือบครึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน และโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยกว่ามาก จึงเกิดภาระให้ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องไปหาเงินจากแหล่งอื่น เพื่อให้การบริหารงานและจัดการศึกษาดำเนินต่อไปได้ตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร อภิปรายฯงบประมาณ66

 

น.ส.จิตภัสร กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภาระหนักที่เกินความจำเป็นของครูและส่งผลลบรวมถึงกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของลูกหลานของเรา ด้านความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เมื่อระบบการศึกษาไม่สามารถสร้างคุณภาพให้เด็กนักเรียนในกลุ่มยากจน เด็กเหล่านี้จะเข้าสู่ตลาดแรงงานกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ที่มีค่าแรงต่ำ งานวิจัยพบว่า 2 ใน 3 ของแรงงานที่มาจากครอบครัวยากจนจะเป็นแรงงานราคาต่ำ ล้วนเป็นผลพวงของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและทางการศึกษา เป็นที่มาของวงจรแห่งความยากจนที่ไม่จบสิ้น  

 

"ดิฉันกังวลถึงปัญหานี้มาก ตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนโรงเรียน เด็กที่ขาดโอกาสในถิ่นทุรกันดาร ได้ระดมกำลังทั้งสินทรัพย์และสติปัญญาเพื่อหาวิธีและแนวทางในการแก้ไข และพบว่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (รร.ตชด.) เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง เป็นเสมือนห้องวิจัยเคลื่อนที่ ที่จะผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ครู ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อสร้างลูกหลานในถิ่นห่างไกลให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีชีวิตที่มั่นคง ยั่งยืน

 

เป็นเด็กไทยยุคใหม่ ที่จะพาพ่อแม่หลุดพ้นจากวงจรแห่งความยากจน แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและลดปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหายาเสพติด ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จึงขอบคุณรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับคำอภิปรายของตนเมื่อปี 2563 เกี่ยวกับเรื่องผลตอบแทนของครูผู้ช่วยใน รร.ตชด. ที่ขอให้ได้รับเงินตอบแทนเทียบเท่ากับโรงเรียนในสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งวันนี้ได้รับเรียบร้อยแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้คือขวัญและกำลังใจที่สำคัญ แน่นอนว่าจะส่งผลดีถึงลูกหลานของเราในอนาคตด้วย


อีกเรื่องที่ดิฉันได้ขับเคลื่อนให้มีนโยบายก็คือ การจัดรถรับส่งนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาฯ ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ในปีนี้ มีการบรรจุงบประมาณสำหรับ จัดหารถจักรยานยนต์วิบาก และรถขับเคลื่อนสี่ล้อเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในโรงเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง โดยรถที่จัดหามาเหล่านี้จะกระจายไปตามรร.ตชด. ในพื้นที่ต่างๆที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมาทั้งสิ้น 75 ล้านบาท 

 

"ท้ายนี้ ขอฝากประธานสภาไปถึงคณะกรรมาธิการงบฯและรัฐบาลในเรื่องของการพิจารณาจัดสรรงบประมาณว่าขอให้คำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ในการพิจารณา ปรับลดงบประมาณเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร ทั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และ โรงเรียนขนาดเล็กให้ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด รวมทั้งในสถานการณ์ประเทศปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานการณ์โควิด-19 สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย- ยูเครน เศรษฐกิจโลกระหว่างจีนกับอเมริกา ซึ่งไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากน้อยเพียงใด ดังนั้นงบประมาณทั้งหมดนี้จึงถือเป็นส่วนสำคัญและเป็นความหวังของลูกหลานไทยของเราทุกคน จึงหวังว่าเพื่อนส.ส.จะรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ฉบับนี้ เหมือนกับดิฉัน” น.ส.จิตภัสร กล่าว