"ฝีดาษลิง" ไทยเจอเข้าเกณฑ์สงสัย 6 ราย ลามแล้ว 42 ประเทศ
อัปเดตสถานการณ์โรค "ฝีดาษลิง" ล่าสุด ไทยเจอเข้าเกณฑ์สงสัยแล้ว 6 ราย ลามแล้ว 42 ประเทศ 878 ราย ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ชาย
( 4 มิ.ย.2565) ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือ "ฝีดาษลิง" (Monkeypox) ทั่วโลก เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 เวลา 17.00 น. ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลกของโรคฝีดาษลิง ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรก ในประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจําถิ่นของโรคนี้ ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2565 มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 878 ราย (เพิ่มขึ้น 66 ราย) เป็นผู้ป่วยยืนยัน 782 ราย (เพิ่มขึ้น 76 ราย) และผู้ป่วยสงสัย 96 ราย (ลดลง 10 ราย) ใน 42 ประเทศทั่วโลก (เพิ่มขึ้น 4 ประเทศ)
โดยประเทศที่มีผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" สูง 5 ลําดับแรก ได้แก่
- สเปน 208 ราย (ร้อยละ 24)
- อังกฤษ 199 ราย (ร้อยละ 23)
- โปรตุเกส 138 ราย (ร้อยละ 16)
- แคนาดา 66 ราย (ร้อยละ 8)
- เยอรมนี 50 ราย (ร้อยละ 6)
ประเทศใหม่ที่พบผู้ป่วยยืนยัน ได้แก่ อุรุกวัย 4 ราย มอริเชียส 3 ราย เฮติ และ โมรอคโก ประเทศละ 1 ราย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ประเทศส่วนใหญ่ พบผู้ป่วยที่มีประวัติเดินทางกลับจากต่างประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลียและประเทศโมรอกโก พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ มีประวัติกลับจากประเทศในยุโรปแต่ไม่ระบุชื่อ ผู้ป่วยยืนยันส่วนใหญ่ยังคงเป็นเพศชาย วัยเจริญพันธุ์ อายุระหว่าง 20-59 ปี และมีประวัติเป็นชายมีเพศสัมพันธ์กับเพศชาย
สถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2565 ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยัน แต่มีรายงานผู้เข้าเกณฑ์ป่วยสงสัยจํานวน 6 ราย (เพิ่มขึ้น 1 ราย) ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อทั้ง 6 ราย
ข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ได้แก่
1. สร้างการประชาสัมพันธ์ในเทศกาล “บางกอกไพรด์” เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงการป้องกันตนเองจากโรคฝีดาษลิง
2. เพิ่มการดําเนินการในสถานที่เสี่ยง เช่น สถานบันเทิง บาร์เกย์ ผับชายรักชาย
2.1 ดําเนินการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ใช้บริการ
2.2 ให้ความรู้เกี่ยวกับโรค ในกลุ่มของผู้ให้บริการในการป้องกันตนเอง
2.3 เพิ่มการคัดกรองก่อนเข้ารับบริการ เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ การตรวจรอยโรคที่ผิวหนัง
3. ในการคัดกรอง ณ ด่านท่าอากาศยาน อาจพิจารณาเพิ่มการคัดกรองในกลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีจํานวนผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศเป็นจํานวนมาก
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก โดยผู้อํานวยการภาคพื้นยุโรปขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ในขณะนี้องค์การอนามัยโลกเชื่อว่า การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง อาจไม่สามารถควบคุมได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น จําเป็นต้องลด ความเสี่ยงอย่างเร่งด่วน ผ่านการสื่อสารที่ชัดเจน การดําเนินการที่นําโดยชุมชน การแยกตัวผู้ติดเชื้อระหว่าง การติดเชื้อ รวมถึงดําเนินการติดตามและตรวจสอบผู้สัมผัสติดต่อกับผู้ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ โดยในขณะนี้ โรคฝีดาษลิง ยังไม่จําเป็นต้องมีมาตรการเดียวกับที่ใช้ในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด -19 เพราะไวรัส ไม่ได้แพร่กระจายในลักษณะเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามไวรัสดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดต่อไปในระดับสูง